Friday, November 24, 2006

รัฐประหารบล็อคต่ายน้อย



คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 1

คำสั่ง หัวหน้าคณะปฏิรูปบล็อคกระต่ายน้อย
ฉบับที่ 1/2549
เรื่อง ขอความร่วมมือในการ Post Comment
.....................................................................

ตามที่ คณะปฏิรูปบล็อคกระต่ายน้อยได้ยึดอำนาจการปกครองไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอแจ้งให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบถึงนโยบายการ Post Comment ใหม่ของบล็อค โดยทางคณะปฎิรูปขอให้การ Post Comment ของบล็อคนี้ไม่หวานแหวว และขอให้เน้นขำ โหด เครียด หรือสร้างสรรค์ ทั้งนี้คณะปฎิรูปต้องขออภัยต่อผู้อ่านมา ณ ที่นี้ คณะปฎิรูปเข้าใจว่าของหวานนั้นอร่อย แต่กินบ่อยๆมันไม่ดีต่อสุขภาพ

สั่ง ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2549

ลงชื่อ พล.อ.ต่ายน้อย Anti-Romantic หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ

....ขออภัยในความไม่สะดวก โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

Refridgerator

โอ้อนิจจา

เมื่อซักครู่ข้าพเจ้าเพิ่งเปิดจดหมายอิเลกโทรนิกส์ฉบับที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เป็นจดหมายที่มาจากคอลเลจออฟฟิต

จดหมายฉบับนั้นแจ้งให้ทราบว่า

.............................

.................

.......

มีคนทิ้งตู้เย็นไว้ ให้ไปติดต่อขอมาใช้ได้ฟรี

"ตู้เย็น"

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของข้าพเจ้าไปในทางที่ดีขึ้น
(ข้าพเจ้าดืมน้ำผลไม้อุ่น นมอุ่น มาตลอด รวมถึงไม่สามารถกักตุนอาหารได้เนื่องจากขาดตู้เย็น)

ดังที่อมาร์ตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์ขวัญใจข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า "if there is starvation and hunger, then -no matter what the relative price looks like- there clearly is poverty" (Sen (1983), from "Poor, Relatively Speaking", Oxford Economic Papers, 35)

การไขว่คว้าให้ได้มาซึ่ง "ตู้เย็น" จึงเป็นสิ่งที่ตรงคอนเซ็ปต์ "การพัฒนา" ที่ข้าพเจ้าตั้งหน้าตั้งตาศึกษาอยู่จนตาแข็งและขวางเช่นทุกวันนี้มั่กๆ

...............

ข้าพเจ้าตัดสินใจวิ่งฝ่าสายฝนและลมหนาวไปที่ออฟฟิตของคอลเลจด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น (ลืมใส่เสื้อกันหนาวเฉยๆ อย่าคิดมาก)

ในใจฮึมเสียงเพลงในตำนานของวง ลิง กิน ผัก (Likkin Park)

I tried so hard and get so far! But in the end, I got "REFRIDGERATOR"

(เพลง In the end, version คนขาดตู้เย็น)

.......................

อนิจจา ลุงแก่ๆที่ดูแลคอลเลจออฟฟิตบอกข้าพเจ้าว่า

เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากส่งจดหมายอิเลกโทรนิกส์ฉบับนั้นออกไป ก็มีคนมาซิวตู้เย็นไปเรียบร้อย!

"ตู้เย็น" ที่ฉันเฝ้าฝัน

"ตู้เย็น" ที่ฉันเฝ้ารอ

"ตู้เย็น" ที่ฉันอยากขอ

"ตู้เย็น" ที่ไม่มีวัน....เป็นจริง



ข้าพเจ้ามิอาจสลัดความโครกเศร้าเสียใจออกไปจากจิตใจได้............

_______________________________

ป.ล.เขียนเล่นๆฮาๆนะ ไม่ได้เศร้าจริง

Thursday, November 23, 2006

ฉลองให้กับ Essay

เย้ เย้

Essay สุดโหดผ่านไปแล้ว ในที่สุดเราก็เข้าสู่ช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนปิดเทอม

ด้วยประการฉะนี้ ข้าพเจ้าขอทำตัวเป็นเจดีย์ ...เฮ้ย! ดีเจ เสียสักครั้ง

โปรดฟังเพลงนี้ดู (Click ที่นี่ครับ)

ชื่อเพลง Start โดยศิลปิน Depapepe ครับ

ฟังแล้วลองหลับตานึกถึงเวลาที่มีความสุขดูสิครับ.....

แค่เสียงกีตาร์สองตัวเนี่ย...ทำให้ใจอิ่มเอิบได้จริงๆ

Wednesday, November 22, 2006

ศึกสายเลือดหมี

คำเตือน: อายุต่ำกว่า 18 ปี โปรดอย่าอ่าน

ณ ปัจจุบัน ศึกสายเลือดเกิดขึ้นที่เชียงใหม่แล้ว

ระหว่าง

V1 ผัวเมียแพนด้า หมีไม่ยอมนอน



ต้นตระกูลเซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน เทพของชาวปีศาจแดง (สังเกตได้จากคุณปิ่น กลางคืนไม่นอนเหมือนกัน)

.....อยากรู้จัง กลางคืนทำไรอ่ะ?

___________________________

V2 ครอบครัวโคอาล่า หมีต้นตำหรับท่าเต้นรูดเสา



โคโยตี้ลอกท่ามาใช้ตรึม

..........ใครจะเป็นฝ่ายชนะ โปรดโหวต.....

------------------------

หรือถ้าท่านตัดสินใจไม่่ได้ เรามีหมีโรคจิตในตำนานอีกตัวหนึ่งเป็นทางเลือก (ไม่อยู่ที่เชียงใหม่ แต่อาจเชิญมาได้ในอนาคต)

V3 วินนี่ จอมล้วง



(ล้วงไหครับท่าน...อย่าคิดมาก)

Monday, November 20, 2006

Talk like Ali-G

Fa those who don't know.

Da leadin acta of da famous movie right now, Borat, s da same main man as da acta who play da famous role of rappa Ali-G.






His name is Sacha Baron Cohen,

he graduated from Cambridge University. Me crew told me da ruma dat he was main man wiv Aj.Pichit of Econ TU.

I ave a video clip of im givin da speech fa da graduate of Harvard University. It's wicked! da link is in da house here:

http://www.ifilm.com/ifilmdetail/2653662

Fa those dat don't know where on earf I got these langauge from, please visit ali-g official web-site at www.disbealig.com and do da translation. Thun yous will know.

P.S. เมื่อการงานวิกฤตหนัก สภาพสติเลยวิปลาสตามไป

Friday, November 17, 2006

ค้นหาความหมายของการซื้อประเวณี

คำเตือน....บทความต่อไปนี้ไม่ต้องการนำเสนอมุมมองทางศีลธรรม ถ้าต้องการเพียงมุมมองดังกล่าวโปรดอย่าอ่าน

กระผมเพิ่งได้อ่านบทความเกี่ยวกับการค้นหาความหมายของการซื้อประเวณี เป็นงานวิจัยที่ทำในอเมริกา น่าสนใจทีเดียว เลยสนใจนำมาเล่าให้ทุกท่านฟังต่อ

งานวิจัยดังกล่าวแม้ทำในอเมริกาแต่ก็มีประเด็นหลายอย่างที่น่าจะเป็นประเด็นระดับสากล ที่พอบอกได้ว่าชายที่เที่ยวผู้หญิงในอเมริกานั้นมีความคล้ายคลึงกับชายที่เที่ยวผู้หญิงในประเทศอื่นอยู่หลายประการ

ธรรมดาเวลาเรานึกถึงการซื้อขายประเวณีนั้น ประเด็นแรกที่เรามักนึกไปถึงคือ ทำไมผู้หญิงถึงได้ขายประเวณี?

แน่นอนความยากไร้ การไร้การศึกษาที่เพียงพอ การตกอยู่ในอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยม หรือแม้คำตอบโบราณคร่ำครึอย่างเขา "ถูกหลอก" ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้ง หลายครั้งที่เธอเหล่านี้สุดท้ายก็ถูกเพียงแต่ตราหน้าหรือแผลเป็นทางสังคมให้แล้วก็จบ

ความเป็นจริงเรื่องอาจไม่ผิวเผินเพียงเท่านั้น โปรดอย่าลืมว่าเศรษฐศาสตร์บอกเราว่า เมื่อไม่มีอุปสงค์ย่อมไม่มีอุปทาน โสเภณีจะอยู่ได้อย่างไรหากไม่มีลูกค้า และแน่นอนสำหรับเมืองไทย โสเภณีจะเพิ่มจำนวนได้อย่างไร ถ้าคนเที่ยวไม่ "เยอะ"

คนเที่ยวเหล่านี้มองการซื้อประเวณีว่าคืออะไร? (ต่อไปนี้คือมุมมองของงานวิจัยที่ทำในอเมริกา)

ก่อนจะไปถึงมุมมองส่วนบุคคล สิ่งแรกที่ควรถูกพูดถึงคือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่ได้เปลียนแปลงมุมมองของคนต่อการซื้อประเวณี

ด้วยอิทธิพลของทุนนิยมและตลาดที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการ "ทำให้เป้นสินค้า (Commodification)" การซื้อประเวณีก็เช่นกันที่ถูกทำให้ไม่ต่างจากการซื้อสินค้า "ชนิดหนึ่ง"

มุมมองที่เห็นการซื้อประเวณีเป็นการซื้อสินค้าเป็นมุมมองหลักที่โน้มน้าวให้คนหันไปใช้บริการโดยไม่คิดถึงประเด็นทางศีลธรรม แต่ภายใต้มุมมองดังกล่าวการซื้อสินค้าที่เรียกว่า SEX ก็ยังมีรายละเอียดย่อยที่แตกต่างกัน

บางคนอาจมองว่าคนที่ไปซื้อประเวณีนั้น ไม่มีความสามารถที่จะหาผู้หญิงดีๆมามีความสัมพันธ์ด้วย....

เมื่อถูกภามว่าทำไมถึงได้ใช้บริการทางเพศ ชายหนุ่มหน้าตาดีผู้มีหน้าที่การงานที่สำคัญในบริษัทการเงินตอบคำถามว่า
"เขาต้องการมีชีวิตที่อิสระ การมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้หญิงนั้นนำมาซึ่งปัญหามากมายที่เขาไม่ต้องการ มันดีกว่าที่เขาจะมีความสัมพันธ์ทางเพศแค่เพียงผ่าน แล้วใช้ชีวิตอิสระของตนได้ต่อไปโดยไม่ถูกรบกวน"

....ความเป็น Individualism มากขึ้นของสังคม ก็อาจนำมาซึ่งคนที่ "มีโลกส่วนตัว" ที่ไม่ค่อยอยากให้ใครเข้ามาวุ่นวายมากนัก บางทีการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งก็นำมาซึ่งความรับผิดชอบที่คนเหล่านี้ไม่อยากแบกรับ

บางคนมองว่าการหันไปใช้บริการทางเพศเกิดจากสภาพครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ภรรยาไม่สามารถตอบความต้องการทางเพศของสามีได้.....

เมื่อถูกถามถึงสาเหตุของการใช้บริการว่าเกี่ยวกับความล้มเหลวของชีวิตแต่งงานหรือไม่ ชายวัยกลางคนตอบว่า
"เขามีชีวิตครอบครัวที่ดี มีความสัมพันธ์ทางเพศที่ปรกติกับภรรยา แต่การมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นทีีไม่ใช่ภรรยาของตนบ้างก็เหมือนการเปลี่ยนรสชาติ บางทีมันอาจช่วยทำให้ชีวิตคู่ของเขาดีขึ้นด้วยซ้ำ"

การซื้อประเวณีของผู้ชายนั้น ส่วนใหญ่ถูกแยกออกจากความรัก รักครอบครัว รักแฟนก็เรื่องหนึ่ง การทำตามความอยากก็อีกเรื่องหนึ่ง

บางคนที่มองว่าคนที่ไปเที่ยวผู้หญิงนั้น ไปเพียงหาทางออกที่ยังไม่มีให้กับความใคร่ที่อัดอั้น อาจมองเรื่องดังกล่าวไม่ครบทุกมุม....

เมื่อถูกถามถึงสาเหตุของการเที่ยว ชายคนหนึ่งจึงได้เล่าประสบการณ์ที่ติดอยุู่ในความทรงจำของตน
"ความประทับใจในการบริการทำให้เขาไปที่นั่นเพื่อหาสาวคนเดิมอยู่บ่อยๆ เขาชอบความรู้สึกที่ได้จากเธอ"

แต่เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่มีให้กับเธอว่าอยู่ในฐานะใด
"เขากลับตอบเพียงว่า มันอยู่ในฐานะผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ความสัมพันธ์ไม่เคยเกินเลยไปกว่าทางพาณิชย์ และไม่ใช่เพียงเขาที่ต้องการเพียงแค่นั้น แต่เธอเองก็ต้องการเช่นกัน"

"แม้ให้เลือกมีความสัมพันธ์โดยที่ไม่ต้องเสียเงินได้ เขาก็จะไม่เลือก เพราะเขาเชื่อว่าสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ความสัมพันธ์ในเชิงอุปสงค์และอุปทานเป็นเรื่องที่เหมาะแล้ว"

หญิงสาวผู้เคยผ่านประสบการณ์เป็นผู้ให้บริการ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเธอกับลูกค้าว่า
"มีบ้างบางครั้งที่เธอรู้สึกพิเศษกับลูกค้าบางคน แต่เธอรู้ว่าการพยายามให้ความพิเศษกับลูกค้าที่เธอรู้สึกเช่นนั้น จะไม่ส่งผลใดๆที่เธอต้องการให้เกิดขึ้นได้เลย เธอเคยบอกให้ลูกค้าที่เธอชอบมากคนหนึ่งมาใช้บริการได้ฟรี.....แต่หลังจากนั้นเธอก็ไม่เจอเขาอีกเลย"

คำอธิบายว่าการไปเที่ยวนั้นคือการบำบัดทางอารมณ์อาจถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะในความคิดของผู้ชายนั้น การบำบัดอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่ถูกแยกจากความเป็นจริง เป็นโลกที่ไม่เกี่ยวกับความรักและศีลธรรม เป็นสิ่งเสมือนจริงในโลกที่จำกัด (Bounded Authenticity)ที่อยู่บนพื้นฐานของการได้รับและตอบแทน

นั่นคงเป็นความหมายคร่าวๆของ "การซื้อประเวณี" ที่ได้จากงานวิจัยเรื่องดังกล่าวในอเมริกา

ไม่รู้ว่าจะคล้ายคลึงกับภาวะในประเทศไทยของเราหรือไม่?

แต่ที่แน่ๆ งานวิจัยดังกล่าวได้เอ่ยถึงคำสัมภาษณ์ที่ตรงไปตรงมาของชายอเมริกันคนหนึ่ง ที่ว่า

"Men and woman just think differently, Men will fuck sheep, boys, anything. They are dogs"

.........ไม่ทราบชายไทยคิดว่าส่วนไหนบ้างของประโยชน์ดังกล่าวที่จริง

Tuesday, November 14, 2006

เศรษฐกิจพอเพียง: ทฤษฎีสีเหลือง

ในยุคที่สีเหลืองกลายเป็นสีที่มีอภิสิทธ์เหนือสีอื่นๆ

กลายเป็นสีที่ศักดิ์สิทธ์ และมีอำนาจทางคุณธรรมแฝงอยู่ (ช่วยเพิ่มความชอบธรรมในการทำรัฐประหารได้ด้วย...อู้หู)

เราอาจเที่ยวไปบอกคนที่ไม่ยอมใส่สีเหลือง หรือไม่มีเสื้อเหลืองอยู่ในตู้เสื้อผ้าได้ว่า

"morally below standard"

ก็ในเมื่อสีเหลืองมันทรงพลังขนาดนั้น......ใครปฏิเสธก็เหมือน "คนไม่รักดี"

....................

เอาล่ะ ทีนี้มาว่ากันด้วย "อภิทฤษฎี" ที่ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง" บ้าง

เพราะปัจจุบันก็กลายเป็นทฤษฎีที่ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจทางคุณธรรมไปแล้วเช่นกัน

เมื่อมันกลายเป็นทฤษฏีสีเหลือง....เปี่ยมไปด้วยอำนาจและบารมี

คงปฏิเสธได้ยาก เพราะใครกล้าหาญไปโต้แย่้ง อาจถูกว่าได้ง่ายๆว่า ไม่รักดี

...................

คงไม่อาจปฏิเสธได้่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นทฤษฎีที่น่าสนใจทฤษฎีหนึ่ง

แต่ต้องยอมรับว่า ในเมื่อมันเป็นแนวคิด มันก็ย่อมมีจุดดีและจุดด้อย

และที่สำคัญมันควรมีความเท่าเทียมกับแนวคิดอื่นๆ ไม่ใช่มาด้วย "อภิสิทธิ์"

ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงมาแบบใส่สีเหลือง แล้วการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไปตรงมา การโต้แย้งบนหลักของเหตุผล บนเนื้อหาของทฤษฎีล้วนๆจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ช่วยกันถอดสีเหลืองออกจากเศรษฐกิจพอเพียงก่อนเถอะ แล้วค่อยมาตื่นเต้นตื่นตัวกับมันเช่นปัจจุบัน

.....................

ในฐานะที่เศรษฐกิจพอเพียงน่าจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน

ขอโปรดพึงสังวรณ์ความเป็นสังคมอภิชยานาธิปไตยของประเทศไทยเอาไว้

ว่าสังคมไทยเป็นสังคมของคนกลุ่มน้อยที่อยู่บนยอดปิรามิดทางเศรษฐกิจและอำนาจ และคนเหล่านี้ก็มีความสามารถสูงในการสร้าง ความเป็นไทย เพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเองได้อย่าง "เนียน" มาตลอด

และตั้งคำถามเยอะๆกับ อภิชน.....อภิสี......และอภิทฤษฎี

Monday, November 13, 2006

ภาพลวงของการมองอดีต

วันก่อนได้อ่านเอกสารชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์

เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อผิดหลาดเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ คือการศึกษาประวัติศาสตร์บนฐานของความรู้สึกปัจจุบัน

พูดง่ายๆว่าเอาปัจจุบันมาตัดสินประวัติศาสตร์ว่างั้นเถอะ ซึ่งผู้เขียนบอกว่าเป็นเรื่องไม่ควร เพราะประวัติศาสตร์ควรถูกศึกษาภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆของยุคสมัยนั้นๆในอดีต เพื่อให้เกิดความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆในอดีตอย่างแท้จริง (และเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำการบางอย่างในปัจจุบัน)

แต่เรื่องที่อยากเม้าท์คงไม่ใช่เรื่องดังกล่าว

มันเป็นเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกโดนอะไรบางอย่างใกล้ตัว

เนื่องจากเอกสารดังกล่าว ยังกล่าวต่อไปถึงภาพลวงที่มักเกิดขึ้นเสมอเวลาคนเราอ้างอิงประวัติศาสตร์ (ภาพลวงเหล่านี้มักทำให้ประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือ)

ผู้เขียนกล่าวว่าภาพลวงใหญ่ๆที่มักเกิดในการมองย้อนกลับไปในอดีตก็ได้แก่

หนึ่ง อดีตมีค่าควรอนุรักษ์เสมอ

แนวนี้เป็นแนวคิดแบบ"วัฒนธรรมไหนที่มีมาแต่เดิมย่อมดีตลอด" มักจะได้เจอในคำกล่าวประมาณว่า ก็เขาทำมากันแบบนี้ตั้งนานแล้วอ่ะ หรือถ้าเป็นแบบที่กระผมเคยได้ยินคงเป็นประมาณ ที่นี่เราทำแบบนี้กันมาตั้งนาน (เพราะฉะนั้นโปรดอย่าเถียงและทำมันต่อไป)

อืม คุ้นๆ คุ้นๆ เหมือนเคยได้ยินอะไรแบบนี้บ่อยๆ

สอง ปัจจุบันแย่กว่าอดีตเสมอ

คือประมาณว่า อดีตที่ผ่านมาล้วนรุ่งเรือง ส่วนปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นแย่ลงกว่าเดิมมาก แนวคิดแบบนี้มักพบได้ในคำกล่าวของผู้สุงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวว่า เด็กสมัยนี้นี่..... ผู้เขียนเอกสารดังกล่าวบอกว่า ความรู้สึกแบบนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่ปรับตนเองตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน จนรู้สึกเกิดการสูญเสียขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อืม คุ้นๆ อีกละ

ทำไมๆ รู้สึกเหมือนได้ยินอะไรประมาณนี้มาก่อนก็ไม่รู้ ประหนึ่งเกิด dejavu

ดูท่าทางบางสถานที่จะตกอยู่ในภาพลวงแห่งการมองอดีตแบบที่คนเขียนคนนี้กล่าวไว้พอควรนะเนี่ย อืม.....

Sunday, November 12, 2006

การเรียนและการตั้งคำถาม

ขอบ่นเสียหน่อย สักสองสามเรื่อง

ช่วงนี้กระผมต้องผจญกับภาระการเรียนที่นักมาก การใช้ชีวิตแต่ละวันนั้นต้องถือว่าอยู่ในวิสัย "ชีวิตเศร้า" เลยทีเดียว เนื่องจากเวลาทั้งหมด ยกเว้นกินข้าวและนอน ถูกใช้ไปกับการเข้าเรียน อ่านหนังสือ และเขียน essay ส่ง แบบว่าชีวิตเหลือแค่มิติเดียว มิได้ออกกำลัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสืออ่านเล่นแต่อย่างใด

กับการเรีียนที่หนักหน่วงนั้น ก็พอบอกได้ว่า มันก็เป็นเช่นนั้นนั่นแล ตอนเลือกมาก็ไม่รู้ว่ามันจะหนักหนาอะไรมากมาย พอมาถึงก็ได้ยินเสียงเล่าลือว่าคอร์สที่เลือกมานั้นระดับความทรมานใช้ได้ทีเดียว พอเรียนไปจริงๆก็ถึงบางอ้อ มันทรมานใช้ได้ อย่างนี้นี่เอง!

แต่ท่ามกลางภาระงานหนักหน่วงและความเครียดฟุ่งกระจายเหล่านี้ ก็มีเรื่องน่าคิดผุดขึ้นในหัวสองสามเรื่อง

อย่างแรกเนี่ย คือความต่างระหว่างการเรียนป.ตรีกับการเรียนระดับ grad
เพิ่งมาเข้าใจว่า โอ้ เราต้องถูกฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง เพื่อให้สามารถผลิตงานวิชาการชั้นดีได้ในอนาคต

ขออาจารย์ทั้งหลายที่เคยต่อว่าผลงานกระผมเมื่อครั้งเข้ามาเป็นอาจารย์ป.ตรีโปรดเข้าใจ กระผมเพิ่งทราบแล้วว่าการฝึกฝนเพื่อเข้าสู่โลกวิชาการอย่างจริงจังนั้นเป็นเช่นไร เทียบกันไม่ติดทีเดียวกับตอนเรียนป.ตรี

หวังได้ว่าเมื่ออ่านการฝึกโหดเหล่านี้ไปแล้วงานกระผมจะมีพัฒนาการชัดเจน

โอ้ ขอหยุดแก้ตัวก่อน มีเรื่องอยากบ่นและกล่าวโทษผู้อื่น

คือต้งแต่มาเรียนระบบอังกฤษเนี่ย เห็นปัญหาอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเองชัดเจน

คือระบบการเรียนที่ประสบอยู่ในปัจจุบันนั้น เน้นการเรียนแบบอ่านเอง แล้วไปห้องเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆแข่งกัน

อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนเชิงวิพากษ์

ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผมในปัจจุบัยก็คือ ผมรู้สึกถึงความสามารถที่อ่อนด้อยกว่าประชามคมโลกจากยุโรปและอเมริกาด้านการตั้งคำถามและ การวิพากษ์วิจารณ์มากๆ

คือรู้สึกว่าตัวเองเนี่ย หากเข้าเรียนแล้วเข้าใจที่อาจารย์พูด อ่านหนังสือรู้เรื่อง จำประเด็นต่างๆที่สำคัญของหนังสือได้ก็น่าจะพอแล้ว อาจถือว่าดีมากแล้วด้วยซ้ำ

แต่พอต้องมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองอ่าน แบบว่าประเด็นไหนที่เราไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เราคิดว่าผู้เขียนขาดอะไรไปบ้าง ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรเหล่านี้ได้ไม่ดีเลย

จะว่าไปแล้วเลยได้นึกย้อนกลับไปในอดีต และพบว่าอืม…จริงๆก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนนี่น่า

ตั้งแต่เริ่มเรียนอนุบาล ยันจบป.ตรี ดูเหมือนการเรียนรู้ในบ้านเรานั้น จะแยกชัดเจนระหว่างการเรียนกับการถาม

คือเรียนก็คือเรียน เข้าไปในห้อง ทำให้ได้อย่างที่อาจารย์บอก คิดให้ได้แบบที่อาจารย์คิด จำให้ได้ แล้วเอาไปสอบ ได้คะแนนดีสบายแฮ

แต่ไม่ต้องวิพากษ์ว่าสิ่งที่อาจารย์สอนนั้นมีข้อบกพร่องตรงไหน ไม่ต้องตั้งคำถามแข่งกับความรู้ที่อยู่บนกระดาน ไม่ต้องไปพูดคุยถกเกียงกันต่อถึงความรู้ที่ได้รับว่าเห็นด้วยหรือไม่และอย่างไร

คิดโทษการศึกษาไทยได้เช่นนี้ กระผมจึงรู้สึกเสียดายและเสียใจกับระบบการศึกษาบ้านเราพอควร อืมเราฝึกคนเป็นนักคิดได้ยากจริงๆ เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในการเรียน

นี่ล่ะน้า กระผมถึงได้ลำบากใบ้แด๊กอยู่ในขณะนี้ (แต่จริงๆแล้วภาษากระผมก็ยังไม่ค่อยดีนัก จะพูดไรทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก โดยเฉพาะเวลาถกเถียงเรื่องที่เป็นวิชาการมากๆ เรื่องนี้มีส่วนเช่นกันและเป็นความผิดของกระผมเอง)

อีกเรื่องนึงคงเป็นเรื่องความเหงา

อืมตั้งแต่มาเรียนเนี่ย วันๆแทบไม่ค่อยได้เจอใคร ถึงเจอก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรมากมาย แบบคุยผ่านๆ

กับเพื่อนที่ร่วมคลาสก็ไม่ค่อยสนิท (ซักที)

ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม จริงๆก็อยากคุยกันมันนะ แต่มันเหมือนมีอะไรบางอย่างมากั้นเอาไว้

จากเมื่อก่อนเวลาโดนถามว่า How are you? จะต้ั้งใจตอบเพราะนึกว่ามันถามจริงๆ

จนตอนนี้รู้แล้วว่าเขาก็ถามไปงั้นล่ะ เพราะเขาไม่ได้รอคำตอบอะไรจากเรา

รู้สึกว่าสังคม Grad เนี่ยแบบ ค่อนข้างตัวใครตัวมัน ดูแลตัวเองก็แล้วกัน เวลาเฮฮาอะไรร่วมกันเนี่ย แทบไม่มีเลยซักครั้ง

อืม พอมาอยู่แบบนี้ก็ จิตตก พอควร แบบคนเคยอยู่ฮาๆ เพื่อนเยอะๆ มีเรื่องคุย บ่น เม้าท์ ได้ตลอด

พอมาอยู่แบบนี้ กอปรกับความเครียดจากการเรียน

ก็ได้แต่บอกตัวเองบ่อยๆ ว่า common man! it won’t make you die! it will make you tough!

เอาล่ะ ขอหยุดบ่นแต่เพียงเท่านี้และไปอ่านหนังสือต่อแล้ว

Thursday, November 02, 2006

กระบวนการสร้างสังคม (Social Construction)

ขอร้อนวิชาเสียหน่อย

ช่วงนี้กำลังศึกษาเรื่อง "กระบวนการสร้างสังคม" อยู่

มันส์มากทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการสร้างสังคมแอฟริกา

จากที่ไม่มีประเทศชัดเจน แอฟริกาในอดีตก่อนจะถูกครอบครองเป็นอนานิคม แม้จะแบ่งแยกกันเป็นชนเผ่า แต่เส้นแบ่งไม่เคยชัดเจน และแต่ละเผ่าไม่พยายามช่วงชิงทรัพยากรหรือสร้างความขัดแย้งกับชนเผ่าอื่น (ยกเว้นในบางกรณี)

แอฟริกาผ่านเส้นทางของการเป็นอาณานิคม ที่มีการตีเส้นแบ่งดินแดนต่างๆเป็นชาติเพื่อปกครอง และเข้าสู่ช่วงเวลาที่แต่ละประเทศที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นตกอยู่ภายใต้กระบวนการ "สร้างชาติ"

จนถึงช่วงเวลาแห่งความโหดร้าย ที่ประชาคมโลกต้องเห็นคนแอฟริกันฆ่ากันเองเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ (ซึ่งในหลายกรณีกลับเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงการเป็นอาณานิคม)

คนแอฟริกันที่ตกอยู่ภายใต้สงครามระหว่างเชื้อชาติ จะรู้บ้างไหมว่าหลายๆสิ่งที่เขาเชื่อจนต้องฆ่ากันตายนั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ชนชั่นปกครองได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างอำนาจและความชอบธรรมทางการเมือง

........................

อาจารย์ที่สอน บอกให้เห็นถึงความสำคัญของการรู้สึกตัวว่าเราล้วนตกอยู่ภายใต้ "สังคมที่ถูกสร้าง"

แล้วคนไทยเราล่ะ รู้ตัวกันบ้างไหมว่าอะไรในบ้านเราซึ่งถูกสร้าง

อะไรเป็นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญนัก จนเอามาแบ่งว่าใครเป็นคนไทย ไม่เป็นคนไทย

สิ่งนั้นมันมีค่าพอไหม ที่เราจะคลั่งกับมันจนต้องทำร้ายกัน

คำถามนี้คงตอบยาก

แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าเราต่างอยู่ในสังคมที่ถูกสร้าง เราคงเข้าใจในความแตกต่าง ที่เราอาจเคยเรียกมันว่า "ความขัดแย้ง" ได้ดีขึ้น

ขอแค่นี้ มากไปไหม?

Wednesday, November 01, 2006

อธิการฯธรรมศาสตร์ กับ ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ

หลังจากได้เห็นร่างแถลงการณ์ให้ท่านอธิการธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลือกลาออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

อืม....

จริงๆก็เห็นด้วยพอควร ว่าอธิการธรรมศาสตร์ไม่ควรไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ

แต่อีกแง่นึงก็เห็นใจ อ.สุรพล เหมือนกัน

ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนนะ แต่พอเข้าใจสถานะ

รวมถึงที่แกพยายามบอกว่า กลับไปแก้ไขในอดีตไม่ให้รัฐประหารไม่เกิดคงไม่ได้ ตอนนี้อ.เขาคงอยากทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายมหาชนในการช่วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงหน้าที่อะไรอีกมากมายตามที่จะทำได้

แต่ก็นั่นล่ะ ก็ยังรู้สึกว่าจุดยืนอ.เขาน่าจะแข็งกว่านี้หน่อย ช่วงแบบนี้ภาษาวัยรุ่นน่าจะเรียกได้ว่า "ช่วงวัดใจ"

ถ้าใจถึงก็ออกดีกว่า โดยนโนคติและอุดมการณ์แล้วคงพอเข้าใจได้ว่าสองตำแหน่งนี้มีสภาพเบื้องหลังที่ขัดแย้งกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

หลังๆนี่ รู้สึกเหมือนว่า คนเราบางทีก้ต้องเจอเอากับช่วงวัดใจแบบนี้อยู่บ่อยๆ และการวัดใจแบบนี้นี่ล่ะ มันเป็นจุดที่ทำให้ "ตำนาน" ต่างจาก "ประวัติศาสตร์"

ถ้าคุณเป็นอธิการธรรมศาสตร์ล่ะ คุณจะทำไง?