Thursday, May 12, 2005

กระต่ายน้อยในดงเสือ

ต้องขอโทษทุกท่านด้วยที่ผมหายไปนาน

......ก็ตอนนี้มันยุ่งมันยุ่งจัง งานมันอีรุงตุงนัง เลยยังไม่มีเวลาไปหา
ก็อยากให้ร้องเพลงรอ ร๊อ รอ รอ ก่อนได้มั๊ย รับรองได้เลย
จะกลับไปชดไปเชย ที่หายไปนาน แต่ตอนนี้
.......อย่าไปรักใคร อย่าไปชอบใครอย่า เอาหัวใจไปให้คนอื่น
จากไปหลายวัน ห่างกันหลายคืน อยากให้ช่วยยืนยันว่าเธอนั้นยังมี กะใจ


กระผมขอเลียนแบบศิษย์พี่ ในการเอาเนื้อเพลงมาแสดงอารมณ์ที่คุกกรุ่นอยู่ภายใน...ยากจะเก็บไว้
เอาล่ะ ไหนๆก็พูดถึงเขาแล้วผมขอใช้เขาอ้างอิงเข้าเรื่องเลยดีกว่า

ท่ามกลางความแตกต่างกันหลายๆอย่าง ผมมีอะไรอย่างหนึ่งที่เหมือนกับคุณปิ่น

....ผมไม่ได้เชียร์ทีมที่สามของพรีเมียร์ลีก (ที่สามครับ ที่สาม ไม่ใช่ทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแน่ๆ) ที่ก้าวผ่านยุคทองเข้าสู่ยุคตกต่ำ และกำลังจะโดนย้ำว่าเป็นรองทีมที่ดีกว่า(และอันดับเหนื่อกว่า) ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เหมือนเขา
....และผมไม่ใช่ดาราขวัญใจวัยรุ่นในอดีตเหมือนเขา(ฮ่าๆๆ)

แต่ที่เหมือนกันก็คือ ผมหลุดเข้ามาในดงเสือร้ายในช่วงที่ตัวเองยังเป็นเพียงเด็กกระเตาะกระแตะ
เสือร้ายที่ผมหมายถึงไม่ใช่เสือร้ายในความหมายแรกที่คุณคิดออก(และที่ผมก็คิดออกเช่นกัน)
แต่ผมกำลังหมายถึงเหล่านักวิชาการที่คณะของผม ผู้ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนเป็นนักคิดระดับต้นๆในสายวิชาที่ผมร่ำเรียนมาทั้งนั้น
พูดง่ายๆก็คือ ผมเข้ามาอยู่ในแวดวงอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่จบปริญญาตรี

การโดนแวดล้อมด้วยนักวิชาการระดับหัวกะทิมากมาย ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองอ่อนด้อยไปมาก
หลายๆครั้งเวลาที่เขาพูดอะไรที่เป็นวิชาการมากๆผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง ได้แต่นั่งพยักหน้าเออออไปเรื่อยๆ
บางครั้งเวลาที่อาจารย์ท่านอื่นๆเขาพูดถึงนักวิชาการคนโน้นคนนี้ ทฤษฏีโน้นทฤษฎีนี้ ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันเป็นใคร ทำอะไร คิดอะไรวะ

คงเป็นเพราะการเรียนรู้ในระดับป.ตรี(ที่เมืองไทยนะครับ ประเทศอื่นไม่รู้เป็นไง)ยังไม่ได้เตรียมตัวให้คนมาเป็นนักวิชาการ
การจบตรีมันแค่ทำให้เราพอหาเลี้ยงชีพได้ ด้วยการใช้ใบปริญญาเป็นใบผ่านทางกับคนจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองมันในแง่ดี
การได้เข้ามาอยู่ในภาวะแบบนี้ มันช่วยกดดันให้ผมต้องพัฒนาตัวเองไม่ให้เป็นจุดอ่อนของชุมชนจนเกินไป

อย่างนั้นก็เถอะ ผมรู้สึกว่าชุมชนอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะตัวจริงๆ
คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่เราจะได้อยู่กับนักคิดที่เก่งกาจมากมายอย่างนี้
ผมชอบนะ เวลาที่ได้คุยกับคนที่เก่งๆแล้วมันได้อะไรที่ปิ๊งขึ้นมาในหัวเลย ซึ่งผมก็ได้มากที่สุดจากที่นี่นั่นล่ะ

แต่ก็ยังมีหลายๆอย่างที่ผมยังข้องใจอยู่...

อย่างแรกคือ นักวิชาการเหมาะจะเป็นนักบริหารหรือไม่

ผมคิดว่าสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน
นักวิชาการชั้นเลิศอาจไม่มีวันเป็นนักบริหารที่ดีได้เลย
เพราะว่าทั้งสองอย่างมันใช้ความสามารถคนละแบบ

นักวิชาการอาจจะเก่ง แม่น ละเอียด ในเรื่องความคิด และมีความรอบรู้ที่ยากจะมีใครเทียบ
แต่นักบริหาร โดยเฉพาะผู้ที่บริหารคน ต้องมีศิลป์ มีความยืดหยุ่นสูง ยิ่งทำงานกับคนมากและทำงานกับคนเก่ง ยิ่งต้องยืดหยุ่นมาก
คนนั้นเป็นคนอย่างไร คนนี้ต้องการอะไร นักบริหารต้องเข้าใจถึงความคิดความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้าง แล้วบริหารคนเหล่านั้นเพื่อให้องค์กรของตัวเองก้าวหน้าไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จ

ผมคิดว่านักวิชาการส่วนน้อยด้วยซ้ำ ที่จะสามารถเป็นนักบริหารที่ดีได้
เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่จะทำงานคนเดียว ไม่ต้องยุ่งกับคนอื่นมาก อาจจะมีการทำงานเป็นทีมบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการแบ่งงานกันทำ
เมื่อต้องทำงานคนเดียวมากๆเข้า ผมว่ามันก็จะชินกับบรรทัดฐานของตัวเอง
เมื่อต้องมาบริหารคน ความอยากจะเข้าใจคนอื่นมันก็อาจจะหายไป เพราะพยายามจะเข้าใจตัวเองมากกว่า

นั่นก็เป็นโครงสร้างที่ทำให้ผมคิดว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่น่าจะเป็นนักบริหารที่ดีได้
ไม่ได้หมายความว่าเป็นไม่ได้นะครับ นักวิชาการบางคนอาจจะมีพรสวรรค์หลายด้านรวมทั้งด้านการบริหารมาตั้งแต่เกิด แต่ผมคิดว่าคนพวกนั้นหายาก

สรุปแล้วก็คือ
ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยยังสับสนเรื่องนักวิชาการกับนักบริหารอยู่
มหาวิทยาลัยน่าจะลองผสมผสาน นำนักบริหารจริงมาคุมการทำงานในส่วนที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารล้วนๆบ้าง
เช่น การวางแผนพัฒนา การบริหารคน ไม่ใช่พยายามผูกขาดหน้าที่เหล่านี้ให้กับนักวิชาการอย่างเดียว
ส่วนหน้าที่ที่มีผลเชิงวิชาการ เช่น การบริหารวิชาการ หรือ กิจกรรมนักศึกษา ก็ให้นักวิชาการทำต่อไป

ผมคิดว่าคนเหล่านี้น่าจะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารเรื่องพวกนี้มากกว่านักวิชาการส่วนใหญ่
แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นคนที่เข้าใจปรัชญาเรื่องการศึกษานะครับ

อย่างที่สองก็คือ นักวิชาการกับการเป็นข้าราชการ

คือผมคิดว่า นักวิชาการในมหาวิทยาลัยรัฐของเราเนี่ย ไปๆมาๆจะถูกครอบงำโดยระบบราชการเข้าเสียแล้ว
คงเป็นเพราะการเป็นอาจารย์ในสมัยก่อนก็คือการเป็นข้าราชการ
และมหาวิทยาลัยก็เป็นหน่วยงานราชการเช่นกัน พนักงานในมหาวิทยาลัยก็เป็นข้าราชการ

ผมไม่ได้หมายความว่าการเป็นข้าราชการไม่ดีนะครับ แต่ด้วยอนิจลักษณะหลายๆอย่าง ทำให้ผมคิดว่าเราเสียบรรยากาศความเป็นวิชาการไปกับความเป็นราชการเยอะ
ผมคิดว่าระบบราชการมันยังเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ไร้สาระ ที่ไม่อำนวยกับความอิสระที่นักวิชาการพึงมี

ผมเคยออกไปเยี่ยมชนบทกับอาจารย์ผู้ใหญ่ พอเห็นกระบวนการเบิกจ่ายเงินแล้วก็รู้สึกในใจว่า ทำไมมันยุ่งอย่างนี้เนี่ย ให้เรามาเองเราก็คงขี้เกียจมา หรือไม่ก็มาเองเลยดีกว่า ไม่ต้องมาแบบราชการหรอก

อันนั้นยังไม่เท่าไหร่ ที่แย่กว่านั้นก็คือ พออยู่ไปนานๆ เข้าเหล่าอาจารย์บางท่านก็ติดกรอบความคิดแบบราชการไปเลย
พอจะทำอะไรก็ต้องอิงระเบียบ การแต่งตั้ง ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีก็ทำอะไรไม่ได้
หรือแม้กระทั้งบางท่านก็กลายเป็นเช้าชามเย็นชามแบบข้าราชการไทยยุคคลาสสิกก็มี
เหล่านี้บางครั้งมันก็ทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับวงวิชาการของเรา

พูดไปพูดมาก็นึกไปถึงการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย
ผมเคยวิเคราะห์ไว้ว่ามหาวิทยาลัยของเราไม่มีวันออกนอกระบบได้ภายในสิบปีที่จะถึงนี้
....ทำไมน่ะหรือครับ
ก็โครงสร้างแรงจูงใจในการออกนอกระบบของคนในมหาวิทยาลัยมันไม่มีน่ะสิ
เพราะหลังจากเห็นโครงสร้างผลตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยเทียบกับข้าราชการมหาวิทยาลัยแล้ว ผมรู้สึกว่าระบบการคิดค่าผลตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยเทียบจากข้าราชการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น มันทำให้การเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งด้อยกว่าข้าราชการทันที
ผลตอบแทนที่ผมหมายถึงไม่ได้หมายความแค่เงินเดือนนะครับ แต่หมายถึงสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่จะได้รับจากการทำงาน เช่น บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ เป็นต้น

คงไม่มีเหล่าข้าราชการมหาวิทยาลัยอยากจะเปลี่ยนสถานะของตนเองให้ด้อยลงกว่าเดิมหรอก

ที่เขียนมาหวังเพียงเพื่อเสนอปัญหาเฉยๆ ผมไม่ได้มาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยขึ้นค่าตอบแทนให้พนักงานนะครับ (เดี๋ยวจะติดคดีเหมือนป.ป.ช.ซะ) แค่อยากจะบอกว่าวิธีคิดในปัจจุบันมันน่าจะเปลี่ยน หากต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจริงๆ ก็ควรให้คนในมหาวิทยาลัยเห็นประโยชน์จากการออกนอกระบบได้ชัดเจน ไม่ใช่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองจะต้องเสียประโยชน์

ว้า เขียนมาซะนานเชียว
พอดีไม่ได้อัพเดตนานน่ะครับ ต้องขอโทษอีกครั้ง
ยังไงพอผ่านช่วงยุ่งๆไปแล้ว จะมาเขียนให้บ่อยๆนะครับ คราวหน้าว่าจะเขียนเกร็ดความรู้สนุกๆบ้าง พอดีไปอ่านอะไรน่าสนใจมาอยากจะเล่าให้ฟังครับ

7 comments:

David Ginola said...

เห็นด้วยครับ ถึงแม้ผมจะไม่ได้อยู่ในวงการนักวิชาการ แต่ในฐานะนักศึกษาก็พอจะสังเกตเห็นสิ่งที่อาจารย์กระต่ายน้อยเล่ามา

ขอเสริมนิดนึงครับ ว่าอาจารย์นักวิชาการหลายท่านควรจะต้องมีละเอียดละออในการเข้าใจคนมากกว่านี้ ผมหมายถึงจะต้องมองคนให้ถึงข้างใน ไม่ใช่ดูคนแค่ผิวเผิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษา นักศึกษาบางคนดีแค่ผิวเผิน แต่อาจารย์สนับสนุน นักศึกษาบางคนมีดีอยู่ข้างใน ทำดีแบบปิดทองหลังพระ ไม่ได้ show-off ออกมา แต่อาจารย์กลับมองไม่เห็น (เพราะไม่ได้ตั้งใจมองจริงๆ)เลยไม่สนับสนุน...

เรื่องนี้ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากนักศึกษาที่เค้าตั้งใจทำดี แต่เค้าไม่ได้สร้างภาพ คิดดูนะครับว่าเค้าจะเสียกำลังใจและเสียความมั่นใจมากขนาดไหน หากเค้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์และไม่ได้รับโอกาสจากอาจารย์...

อาจารย์เป็นบุคคลที่มีส่วนกำหนดอนาคตของนักศึกษาแต่ละคนได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น อาจารย์จึงควรจะ sensitive กับเรื่องการมองคนการเข้าถึงตัวตนของนักศึกษาแต่ละคนให้มากๆครับ

pin poramet said...

แวะมาทักทายจากถิ่นคาวบอยครับ

เพิ่งมาถึงเมื่อดึกคืนนี้

อาหารไทยที่รอคอยอยู่แค่เอื้อม

สุขใจจริงๆ

pin poramet said...

โกง โกง โกง

โกงที่สุด

Etat de droit said...

เห็นคุณกระต่ายน้อยเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในอีกสถานะหนึ่งที่มิใช่นักศึกษาแล้ว ทำให้ผมหวนคำนึงไปถึงวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๔๔ ที่ผมเข้าเป็นอาจารย์วันแรกเหมือนกัน

สนุกดีครับ

เปลี่ยนบทบาทแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

รุ่นน้องเราบางคนนี่เมือไม่กี่วันยังกินเหล้าด้วยกันอยู่เลย ตอนนี้ต้องมาสอนมันละ

แต่ผมก็ยังแอบย่องไปสังสรรค์กะเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เหมือนเดิมนะ

คิดแล้วก็อยากย้อนไปตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ขอโทษครับขอโทษ ตอนนั้นผมยังมีความใสปิ๊งอยู่นะครับ แต่ตอนนี้การเรียนสูงขึ้นมันมาพร้อมกับริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า แถมเอาน้ำหนักและครรภ์อ่อนๆมาฝากเราอีกด้วย

สนุกให้เต็มที่ครับ

pin poramet said...

สำเร็จแล้ว น้องชาย

tihtra said...

อ่านความคิดบนข้อเขียนของคุณกระต่ายน้อยแล้วชื่นใจครับ

ก่อนอื่นขอยินดีด้วยสำหรับงานใหม่หลังจบการศึกษา ผมติดตามความสำเร็จของคุณกระต่ายน้อย ผ่านไอ้กระต่ายป่า (ตัวใหญ่) พี่ชายของคุณทุกครั้งเมื่อได้พบกัน

ไม่น่าเชื่อว่าคำเอ่ยที่ว่า "โลกกลม" จะทำให้ผมได้มาเจอกับคุณกระต่ายน้อยโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ต้องขอบคุณโลกไซเบอร์สเปซ และชุมชม "บล็อก" ที่ำทำให้การสร้าง "บ้าน" บนดินแดนสนธยายุคใหม่นี้เป็นเรื่องไม่ยาก

ผมคิดว่าผมเดา "ถูก" ว่าคุณกระต่ายน้อยเป็นใคร มาจากไหน พ่อแม่ชื่ออะไร และอีกหลายต่อหลาย ถ้าผิืดตัวอย่างไร ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้

กลับมาเข้าเรื่อง "กระต่ายน้อยในดงเสือ" ของคุณ ผมชอบข้อสังเกตของคุณทั้งสองข้อ โดยเฉพาะในข้อแรกที่ว่า "นักวิชาการ เป็นนักบริหาร" ได้ดีน้อยขนาดไหนเพียงไร

คำถามที่คุณกระต่ายน้อยคิดและพูดออกมาเมื่อตะกี้นี้ เคยเป็นสิ่งที่ผมเคยคิดหนัก เพราะผมอยากเคยสับสนในตัวเองว่าอยากจะเป็น "นักวิชาการ" หรือ "นักบริหาร"

ผมชอบบรรยากาศของความเป็็นวิชาการ ทั้งในเวลางาน และเวลาไปรเวท ผมจำความรู้สึกการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องหนักๆ ทางวิชการได้ดี ในวงเหล้าที่ความคิดมันบรรเจิด

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่ผมสนิทสนมกับอาจารย์ที่สำนักสยามสแควร์ที่ผมจบออกมา ผมกลับเห็นว่า การเป็นนักวิชาการที่เก่งนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงการเป็น "นักบริหาร" ชั้นยอด

ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะผมมีประสบการณ์ตรง เอาเพียงแต่แค่การบริหาร "ถ้ำสิงห์์" ให้ทัดเทียมกับสำนักอื่นๆ สร้าง "สิงห์" ที่จบออกมาให้มีคุณภาพพอๆ กับสิงห์แก่สิงห์เท่าทั้งหลาย ผมไม่รู้ว่าถ้ำในสมัยผมนั้นจะทำได้ดีแค่ไหน

ผมไม่ได้เนรคุณถ้ำสิงห์ ณ สำนักสยามฯ ที่ผมรักและหวงแหนนะครับ แต่สิ่งที่ผมเพิ่งจะหลุดออกจากปากไปเมื่อตะกี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผม "เลือก" ทางที่เป็นอยู่เช่นนี้

พูดให้สั้นก็คือ ผมไม่ค่อยเห็น "นักวิชาการที่เป็นนักบริหารที่ดี"

เพราะอะไรน่ะหรือ ผมว่าน่าจะคุยกันยาว

แต่ประการหนึ่ง ก็อาจจะเป็นเพราะ นักวิชาการนั้นมีระบบคิดที่ึค่อนข้างเบี่ยงเบนไปในทางนามธรรม จุดหมายของนักวิชการที่ผมเห็นมักจะโอนเอียงไปในทาง "อุดมคติ" ในขณะที่นักบริหารจะมีความคิดที่ค่อนข้างไปในทาง "โลกแห่งความเป็นจริง" เสียมากกว่า

ผมไม่ได้บอกนะครับว่า นักวิชาการเป็นนักอุดมคตินิยม ในขณะที่นักบริหารเป็นนักปฏิบัตินิยม ทว่าทั้งสองนัก มีดีกรีระหว่างความเป็น "อุดมคติ" และ "ปฏิบัติ" มากน้อยแตกต่างกันไป

ขอยกตัวอย่างเปรียบเปรยนะครับว่า ในทางของการเมืองการปกครองแล้ว นักวิชาการมุ่งปฏิบัติให้สำเร็จถึง "อุดมคติรัฐ" ในขณะที่นักบริหารมุ่งสู่ "รัฐในอุดมคติ"

รัฐที่ดีเป็นอย่างไร คือสิ่งที่นักวิชการมุ่งตั้งคำถาม ในขณะที่นักบริหารถามว่า "เราจะทำอย่างไรให้ใกล้เคียงกับรัฐที่ดีนั้นได้อย่างมีประสิิทธิภาพ (ประหยัดได้ผลดี) ที่สุด"

แต่ผมก็เห็นนักวิชาการที่เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จหลายๆ นักวิชาการที่เป็นนักบริหารที่ดีไม่ใช่ใครอื่น ซึ่งผมว่าคุณกระต่ายน้อยคงเห็นด้วย ก็เจ้าสำนักที่คุณกระต่ายน้อยเคยเล็ม "กิน" หญ้า "นอน" ผึ่งพุง และ "เล่น" กับสิงสารราสัตว์ตัวน้อยๆ อื่นๆ คุณกระต่ายน้อยเห็นด้วยไหม

เอาแค่นี้นะครับ คุณกระต่ายน้อย หวังว่าคุณจะมีความสุขกับการเป็นอาจารย์หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัย ในฐานะที่ผมเห็นคุณกระต่ายน้อยมานาน ผมก็อดภูมิใจไม่ได้ อยู่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้ ผมก็สอบถาม และได้ยินชื่อเสียงดีๆ ของคุณกระต่ายน้อยมาโดยตลอด

ฝากบอกพี่ชายของคุณด้วยนะครับ ว่าอย่าตีกอล์ฟมาก

tihtra said...

ว่าจะไปนอน แต่นอนไม่หลับ ยังติดใจกับคำถามของคุณกระต่ายน้อยที่ว่า "นักวิชาการเหมาะที่จะเป็นนักบริหารหรือไม่"

ขอเลยเถิดนอกประเด็นไปหน่อยนะครับ แต่มันแวปขึ้นมาในหัว ก็เลยขอนึกต่อไปถึงว่า "นักวิชาการ" และ "นักบริหาร" ในมิติที่ต่างออกไป โดยในฐานะบุคคลสองสาขาอาชีพบ

ผมเห็นต่อไปว่า ทั้งนักวิชาการที่ดี และนักบริหารที่ดีนั้นเป็นความจำเป็นของสังคม และเป็นความต้องการอย่างสูงส่งในสังคมไทย บางครั้ง นักบริหารก็อาจจะดำเนินการผิดพลาด หรือนอกลู่นอกทางออกไปบ้าง ก็จะได้นักวิชาการนี่แหละที่คอยออกมาว่ากล่าวตักเตือน บนพื้นฐานของเหตุผลที่ผ่านกระบวนการคิดอ่านมาพอสมควร

และนักบริหารก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการได้ เมื่อนักวิชาการต้องทำหน้าที่ทางด้านบริหาร เพราะความคิดอย่างนักบริหารนั้น เป็นความคิดที่ "กล้าเสี่ยง" ผิดกับ ความคิดแบบ "ลุ่มลึก" ของนักวิชาการ

ด้วยความแตกต่างกันโดยธรรมชาติของอาชีพทั้งสอง จึงอาจก่อให้เกิดความลำบากบ้าง ในแง่ที่ว่า นักวิชาการจะทำหน้าที่เป็นนักบริหาร แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า "นักวิชาการนั้น เหมาะและไม่เหมาะกับการเป็นนักบริหาร" ครับ