Wednesday, May 03, 2006

ประชานิยมขายฝัน ปัจจุบันที่ถูกละเลย

วันนี้ขอเขียนเรื่องการเมืองบ้างครับ เห็นที่ผ่านมาไม่เคยเขียนลงในบล็อคเลย เผื่อจะกลายเป็นบล็อคที่มีสาระขึ้นมาบ้าง

จริงๆผมก็ติดตามเรื่องการเมืองมาบ้างพอควร โดยเฉพาะในฐานะคนดู..อ่าน..และพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อื่นบ้าง

แต่ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนมาประสบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานของประเทศ

"วิกฤตการเมือง" ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีโอกาสได้ประสบกับตัวเอง เหมือนกับหลุดมาจากหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย (ซึ่งมีแต่เรื่องน่าทึ่งถ้าค้นลงไปลึกๆ)ที่ผมเคยอ่านแล้วก็รำพึงกับตัวเองว่า

"อืม....อย่างงี้ก็มีด้วย"

เข้าเรื่องดีกว่า วันนี้ขอบ่นเรื่องนโยบายประชานิยมแบบเน้นแก้ปัญหาความยากจนของชาวรากหญ้า เพราะเป็นเรื่องที่สนใจมานานแล้ว และก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปเรียนในเร็ววันนี้ (ผมไปเรียนเน้นด้านการพัฒนา)

หลายๆคนคงเคยตั้งข้อสงสัยกับนโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ...ว่ามันมีปัญหาเช่นไร

ทำไมเหล่านักวิชาการหลายๆท่านถึงได้กร่นด่ากันหนักกันหนา ทั้งๆที่นโยบายหลายๆชุดก็เป็นนโยบายที่ถูกใจคนบางกลุ่มในประเทศเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะ...นโยบายที่เรียกกันว่า "ประชานิยม"

ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือคนยากคนจนในต่างจังหวัด เช่น กองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอล พักหนี้เกษตรกร และอื่นๆอีกมากมาย

นโยบายเหล่านี้ ชูให้คุณทักษิณกลายมาเป็นขวัญใจของชาวรากหญ้า เป็นอัศวินควายดำที่ยื่นมือมาช่วยเหลือพวกเขา กลายเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการชูนโยบายหาเสียงแบบ"ประชานิยมมุ่งสู่รากหญ้า" ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

หากจะถามว่าเป็นความสามารถที่สุดแสนจะน่าชื่นชมของคุณทักษิณหรือไม่? ส่วนตัวผมว่ามีส่วนแต่ไม่ทั้งหมด

ส่วนที่ไม่ทั้งหมดก็คือ...มันน่าทึ่งเหมือนกันต่างหาก ว่าที่ผ่านมาทำไมไม่เคยมีพรรคการเมืองใหญ่ๆพรรคใด หาเสียงโดยมุ่งนโยบายไปที่การแก้ปัญหาให้คนยากคนจน

ก็คงเป็นเพราะการเมืองไทยเพิ่งผ่านช่วงเผด็จการทหารมาไม่นานนัก และผ่านมาได้ก็เข้าสู่ช่วงการเมืองสกปรกอีกนาน ทำให้ปัจจัยสำคัญที่นำพรรคการเมืองไปสู่การเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ใช่ "นโยบาย" แต่เป็น "เกมการเมือง"

กลับมาสู่ประชานิยมของคุณทักษิณอีกครั้ง

แล้วปัญหามันคืออะไร?

ผู้นำซึ่งประกาศกร้าว หลังจากเข้ามาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานว่า "ความยากจนจะหมดไปใน 6 ปี" ได้ใช้ความพยายามมากมายในการสร้างฝันให้ชาวบ้านผู้ยากไร้

ผู้ซึ่งรอวันนี้มานานแสนนาน วันที่ตนเองจะได้พ้นวงจรอุบาทว์ โง่ จน เจ็บ โดยการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ใช่ซิ จากเทวดาในร่างนักการเมืองต่างหาก

คำสัญญาที่คุณทักษิณมีให้กับชาวบ้านที่ยากจนได้รับการตอบสนองด้วนนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวชนบท

มีกองทุนให้กู้ยืม ให้ชาวบ้านได้ใช้เงินดังกล่าวไปสร้างการกินอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะนำไปซื้อมือถือ บัตรเติมเงิน ทีวี ตู้เย็น หรือแสงโสมก็ได้

หรือถ้าดีหน่อยจะเอาไปซื้อรถกระบะมาใช้ส่งสินค้าเกษตรของตน ก็จะได้ช่วยเสริมการประกอบอาชีพไปในตัว

ฝันต่างๆของชาวชนบทถูกเสริมด้วยการทำ"การตลาด"อันดีเยี่ยมตลอดเวลาจากรัฐบาล สินค้าโอท็อปถูกนำเสนอเป็นสินค้าส่งออกชั้นดี มีการเตรียมตัวเช่าร้านค้าในนิวยอร์กเพื่อพาสินค้าไทยไปโกอินเตอร์

ชาวบ้านอาจจะได้ฝันเคลิ้มไปไกลกับ"การตลาด"ที่คุณทักษิณมีให้

แต่ปัญหาที่ตามมานั้นมันพะรุงพะรัง

การให้ความช่วยเหลือกับชาวชนบทเป็นเรื่องดี แต่แค่ให้ความช่วยเหลืออย่างเดียวมันไม่พอ

มีปราชญ์ด้านการพัฒนาเคยกล่าวไว้ว่า "อย่าคิดว่าแค่หวังดีแล้วจะเพียงพอ ความหวังดีโดยไม่พินิจพิเคราะห์สิ่งที่ทำลงไปนั่นล่ะจะกลายเป็นปัญหา"

กับความช่วยเหลือที่คุณทักษิณมีให้นั้น ถ้าเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจริงๆก็น่าชื่นชมอยู่
แต่ถ้าไปไปเพื่อ "คะแนนความนิยม" มากกว่าละก็ มันก็ไม่ต่างจากเล่ห์กลในการเข้าสู่อำนาจ

ปัญหาที่เกิดจากนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณนั้น เรื่องใหญ่ก็คือ คุณทักษิณเน้นนโยบายที่เป็นรูปธรรม การช่วยเหลือที่เห็นได้ชัดๆว่าช่วย เน้นการให้แบบเห็นๆว่าช่วย เช่น ให้เงิน ช่วยลดหนี้ แจกของ สร้างนู่นสร้างนี่ให้(สิ่งเหล่านี้ถ้าดูเรียลลิตี้โชว์แก้จนที่อาจสามารถก็คงพอเห็นภาพการแก้จนแบบทักษิณ)ซึ่งเห็นผลได้ชัดในระยะสั้น

คุณทักษิณไม่เน้นการพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือและพัฒนาตนเอง เช่ย การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาทักษะต่างๆ การสร้างชุมชนให้แข็งแกร่ง ให้พึ่งตนเองพัฒนาตนเองได้ สาเหตุที่ไม่เน้นก็คงเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเห็นผลได้ยาก ต้องใช้เวลานาน ไม่เหมาะกับการทำการตลาดทางนโยบาย

และที่สำคัญก็คือ....

นโยบายประชานิยมแบบคุณทักษิณได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวรากหญ้า

มันทำให้เขาเฝ้ารอการช่วยเหลือ คิดว่ามันหนึ่งจะมีคนมาพาเขาออกไปจากความเป็นอยู่ที่ยากแค้น

กับทัศนคติที่คุณทักษิณสร้างไว้ อาจจะไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า ต่อจากนี้ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่ต้องการจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ต้องมี "ประชานิยมขายฝัน" ไว้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งยังประสบปัญหาความยากจนอยู่เช่นกัน

นี่ล่ะคือปัญหาพะรุงพะรังที่เกิดขึ้นตามมา

เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ก็คือการพัฒนาที่เกิดจาก "การพัฒนาตนเอง"
คุณทักษิณได้ดึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของตนเองออก และแทนที่ด้วย "ความฝัน"

ความฝันนั้นแม้มันจะหอมหวล ชวนให้คนเรามีความสุขไปได้ในยามที่นึกถึง

แต่ก็อย่าลืมว่าไม่มีความฝันอันใด จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตจริงได้ ถ้าคนที่ฝันไม่พยายามพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ชุมชนในชนบทของไทยในเวลานี้ก็เหมือนกัน ที่ต่างก็ติดอยู่ใน"ความฝัน"

หารู้ไม่ว่าวันหนึ่งตนเองอาจจะตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ชีวิตจริงก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าแต่ก่อนซักนิด มิซ้ำอาจแย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อวงจรการหมุนเวียนหนี้ที่ตนเองสร้างไว้จากการช่วยเหลือของรัฐบาลเกิดมีปัญหา หรือเมื่อสายสัมพันธ์ที่เคยเชื่อมโยงชุมชนให้แข็งแกร่ง ทุนทางสังคมที่เคยสร้างความเอื้ออาทรแก่กัน ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบทุนนิยมสามานย์ เขาอาจพบตนเองโดดเดี่ยวบนระบบที่ต่างคนต่างเดินตาม self-interest ของตนเต็มที่

ถึงวันนั้นการแก้ปัญหาความยากจนของไทย อาจต้องไปเริ่มแก้ที่ปัญหาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เหล่านี้ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนกลับมาแก้ปัญหาที่มีมาแต่เดิม

กับวันนี้ที่เราคนไทยต่างมุ่งหวังว่าวิกฤตการเมืองจะถูกแก้ไขได้ด้วยการแก้"รัฐธรรมนูญ"
เราอาจจะต้องถามตนเองให้มากขึ้นว่า แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวมันจะเพียงพอหรือ?

โครงสร้างเชิงสถาบันอันบิดเบี้ยวของสังคมไทยปัจจุบันคงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ "รัฐธรรมนูญ" เพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่เกิดขึ้นที่ตัวสังคมเองด้วย

"การปฏิรูปการเมือง" ไม่ควรถูกเน้นจนกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียว แต่ควรเป็นหนึ่งในกระบวนการ "ปฏิรูปสังคม" ที่จะแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็ง การสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย

เราคงต้องพินิจพิเคราะห์ และตั้งคำถามกับคำกล่าวต่างๆที่ออกมาจากนักการเมืองให้มากขึ้น เพราะวันนี้ลักษณะการตีความเรื่องที่น่าจะง่ายหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม กลับถูกทำให้ยาก ด้วยคำอ้างเช่น ไม่ผิดกฏหมาย ใครๆเขาก็ทำ หรือเก่งก็มีสิทธิโกงได้

และกับนโยบายประชานิยมขายฝัน เราคงต้องพยายามทำความเข้าใจลักษณะของมันให้มากขึ้น

เราคงไม่สามารถว่าอะไรคนชนบทที่ชื่นชอบนโยบายเหล่านี้ได้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากมันจริงๆ

แต่เราคงพอเฝ้าระวัง และให้ความรู้กับชาวชนบทบางกลุ่มที่ครุ่นคิดกับสิ่งที่เขาได้รับได้ แล้ววันหนึ่งความคิดอ่านของเขาก็อาจขยายไปสู่คนอื่นๆและชุดให้พวกเขาตื่นจาก"ความฝัน" ที่ถูกสร้างขึ้นกลับมาสู่ "ความจริง" ที่พวกเขาจะต้องเผชิญและก้าวฝ่าปัญหาของตนไปด้วยตนเองเป็นหลัก

ขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีบราซิล ประเทศซึ่งผ่านยุคนโยบายประชานิยมมาก่อนหน้าเรา และคงได้เรียนรู้อะไรมามากพอควรเกี่ยวกับ"ประชานิยมขายฝัน"

"No one lives forever on unfulfilled promises, on thwarted hopes"

(FERNANDO HENRIQUE CARDOSO, อดีตประธานาธิดีบราซิล)

12 comments:

Anonymous said...

อ่านแล้วสนุกมากเลยค่ะ ทำให้มีความรู้สึกว่ามีคนที่รักชาติอยู่มาก

Anonymous said...

ไม่อยากให้คุณกระต่ายน้อยไปเรียนเลย แต่ก็รู้ว่าเป็นอนาคตที่ดีของคุณ ยังไงก็ขอให้คุณเรียนจบไวไวนะคะ จะไปเมื่อไหร่ก็มาบอกกันบ้างนะคะ

Anonymous said...

ขอบคุณนะคะ
จะเป็นกำลังใจให้ค่ะ

aimnantawan said...

ออกแนวซีเรียสนิดๆ นะจ๊ะ เเต่ชัดเจนดีนะ ....
ขอให้จบมาเป็นทั้งอาจารย์เเละนักพัฒนาทีดีค่ะ

Gelgloog said...

เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ

สำหรับผมก็เชื่อเหมือนกันว่านโยบายประชานิยมไม่ใช่คำตอบแน่นอน

แม้นว่าทักษิณจะสร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรม และบางนโยบายก็คงต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าทำได้โอเคนะ แต่ผมที่จะตามมานี่สิ เป็นสิ่งที่เราควรจะคาดคนึงอย่างหนัก

เพราะนโยบายดังกล่าวล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมตั้งแต่ฐานรากทั้งสิ้น ส่วนจะเปลี่ยนแปลงแบบใดนั้นอาจารย์กระต่ายน้อยก็พอได้แจงให้เห็นภาพแล้วพอสังเขป

บางครั้งนโยบายทางเศรษฐกิจจำต้องมองไปถึงมิติอื่นๆที่ไม่ได้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่รู้ว่าทักษิณคิดตรงนี้บ้างหรือไม่

อีกด้านหนึ่งนโยบายประชานิยมถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ไร้หัวไร้หาง มิได้มาจากแนวคิดเชิงอุดมคติใดๆ หากแต่เต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ ผิดกับนโยบายเช่นรัฐสวัสดิการที่มี ที่มาที่ไป มีการก่อร่างสร้างตัวภายใต้อุดมการณ์ที่ชัดเจน

ประชานิยมมุ่งแต่จะสร้างการ "เสพติด" นโยบายให้แก่ผู้รับ ผลที่ตามมาก็คือเมื่อเริ่มใช้มันแล้ว คงจะออกจากวังวง "เอาอีก เอาอีก!!" ได้ยาก และแน่นอนว่าในระยะยาวมันจะต้องส่งผลลุกลามเป็นแน่แท้

คนตัวเล็กๆอย่างเราคงได้แต่มองตาละห้อยว่าละครฉากใหญ่เรื่องนี้จะจบลงที่ใด.....


อาจารย์กระต่ายน้อยเขียนมาอีกเยอะๆนะครับ เดี๋ยวจะขอกรอกใบสมัครเป็นแฟนคลับด้วยคน อิอิ

Anonymous said...

เป็นบทความที่มีเนื้อหาสาระมากเลยค่ะ

Anonymous said...

ติดตามอ่านบล็อคของอาจารย์มาตลอด
แต่หนูชอบเรื่องนี้มากที่สุดเลยนะคะ
อาจเป็นเพราะหนูติดตามเรื่องการเมืองเหมือนกันมั้ง อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากให้ประชาชนระดับรากหญ้าที่เป็นฐานเสียงให้คุณทักษิณเข้าใจจริงๆว่านโยบายที่เค้าสร้างมาทั้งหมดเป็นเพียงเกมทางการเมือง

ป.ล. หนูชอบคำว่าอัศวินควายดำมากค่ะ มีเรื่องอยากสารภาพด้วยค่ะ คือ หนูไม่ได้ไปสอบไฟนอลของวิชาอาจารย์ค่ะ ขอโทษด้วยนะคะ แต่อาจารย์น่าจะขอบคุณมากกว่าเพราะว่าไม่ต้องตรวจข้อสอบไปอีกหนึ่งคน อิอิ ความจริงหนูก็ตั้งใจเรียนนะคะ แล้วที่ไม่ได้ไปสอบก็เพราะว่าหนูย้ายที่เรียนค่ะ
ถ้าหนูมีอะไรปรึกษาอาจารย์
ขออนุญาตเมลล์ไปได้มั้ยคะ

mario said...

เขียนได้ดีจริงๆ ค่ะอาจารย์

อ่านแล้วได้รู้อะไรอีกเยอะเลยค่ะ

แต่ก็คงน้อยคนนะคะ ที่จะรู้ว่า...

ประชานิยม ทำให้ประชาระทมกันถ้วนหน้า

Anonymous said...

อัตราเงินเฟ้อ คืออะไรคะ

Anonymous said...

ซ่อมนำสร้าง

Anonymous said...

เหมือนเเล็คเชอร์ พีโอเลยครับ
แต่มีสาระมากๆ สำหรับผู้อ่าน
สู้ๆ นะคับ

David Ginola said...

อืมม... ไม่ค่อยเห็นด้วยในบางประเด็นนะครับ

คือแบบ... ตัวอย่างที่คนจนที่ได้รับประโยชน์จริงๆ และยั่งยืนจริงๆ จากนโยบายประชานิยมก็มีไม่น้อยเลยนะครับ เท่าที่ได้คุยกับคนขับแท็กซี่, เด็กปั๊ม ฯลฯ เค้าจะบอกว่าญาติเค้าที่ตจว.หลายคนตั้งตัวได้ก็เพราะนโยบายประชานิยม

เช่น ชายคนนึงอยู่ที่โคราช เมื่อก่อนอยู่บ้านกะต๊อบเล็กๆ ข้าวก็ไม่ค่อยมีจะกิน ต้องไปขอวัดกิน ต่อมามีเงินกองทุนหมู่บ้านเข้ามา เค้าก็อยากกู้มาสร้างเนื้อสร้างตัว กรรมการหมู่บ้านก็ไม่ค่อยอยากจะให้กู แต่สุดท้ายก็ให้มา 3000-4000 บาท ชายคนนี้ก็เอาไปซื้อหมูมาเลี้ยงสองตัว ค่อยๆทำไปจนตอนนี้มีกว่า 20 ตัว มีบ้านที่มั่นคงถาวรอยู่ได้ ใช้หนี้หมดแล้ว แถมยังยึดหลักศก.พอเพียงของในหลวง คือยังประหยัดติดดินเหมือนเดิม