Monday, June 27, 2005

ค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วย

ฮ่าๆ หลังจากที่ผมหลบไปกินเหล้าย้อมใจอยู่นาน ในที่สุดผมก็กลับมาแล้ว

เปล่าผมล้อเล่นน่ะคร้าบ จริงๆแล้ว ที่ผมหายไปเพราะกำลังยุ่งอยู่กับโครงงานที่ทำให้กับนักศึกษาที่คณะ

เป็นโครงการใหม่เอี่ยมครับ มีชื่อว่า "ค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วย"

ก็เป็นการพานักศึกษาปีหนึ่งประมาณ 150 คน ไปเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วย โดยการเดินทางไปมูลนิธิบูรณะพัฒนาชนบทที่ชัยนาท
จะไปกันอีกไม่ถึงสองอาทิตย์เนี่ยครับ คุณปิ่นเลยอดไปแน่ๆ เพราะกลับมาไม่ทัน

ด้วยความที่ผมเป็นอาจารย์รุ่นเด็ก(สุดๆ)ก็เลยง่ายที่จะร่วมมือทำงานกับนักศึกษาที่ก็เป็นรุ่นน้องผมทั้งนั้น และหลายๆคนก็รู้จักชื่อเสียงกันมานานตั้งแต่ที่ผมยังทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่ ผมเลยได้มือดีมาทำงานนี้ร่วมกันมากมาย โดยเฉพาะคุณชล สุดยอดนักกิจกรรม เจ้าของBlogที่มีLinkอยู่ข้างๆเนี่ยครับ

ถือเป็นการรวมตัวสร้างกิจกรรมใหม่ครั้งสำคัญของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เลยก็ว่าได้
ทั้งนักศึกษาภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อาจารย์ฝ่ายการนักศึกษา และสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เป็นผู้ให้เงินสนับสนุน

ไหนๆก็เล่ามาแล้ว เพื่อเป็นการรับผิดชอบกับที่หายไปนาน ผมเลยมีงานเขียนที่เพิ่งร่างเสร็จมาให้อ่านกัน

เป็นเหมือนคำนำของค่ายนี้ครับ

ลองอ่านดูนะครับ ผมพยายามจะเขียนให้ซึ้งๆ แต่ไม่รู้จะเลี่ยนไปรึเปล่า และก็ยังไม่ได้เกลาเลยครับ

สายใยแห่งเจตนารมณ์…ป๋วย อึ๊งภากรณ์

คุณเชื่อเหมือนผมไหม ? ว่าชะตาชีวิตของคนเรา...มักจะมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่
....................................

เช้าวันหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ผมได้รู้จักชายที่ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ผมเรียกเขาว่า “อาจารย์ป๋วย” ในเวลาต่อมา เป็นครั้งแรก

การได้รู้จักท่านในครั้งนั้น...ผมไม่ได้พบกับตัวจริงของท่าน แต่ผมแค่ได้รู้จักท่านผ่านตัวหนังสือ

ขณะที่ผมกำลังหนีจากการเข้าเรียนในโรงเรียนที่ผมมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยการอ้างว่าป่วย เพื่อจะได้นอนพักอยู่ต่อไปในหอพัก ผมได้หยิบหนังสือชีวประวัติเล่มโตของนักวิชาการสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรักออกมาอ่าน

และผมก็ได้ทราบว่า อาจารย์ของผมท่านนั้น ชื่นชมอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างยิ่ง โดยการเขียนถึงความดีของอาจารย์ป๋วย อยู่ในหนังสือของเขาหลายตอน

การได้อ่านถึงเรื่องของชายที่ชื่อ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผ่านหนังสือชีวประวัติของอาจารย์ท่านนั้น กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผมขึ้นมาพอสมควร

.....ผมอยากรู้ว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นใคร ทำไมถึงได้รับการยกย่องเหลือเกินจากอาจารย์ของผม
.....ผมอยากรู้ว่า ทำไม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงได้รับการชื่นชมว่าเป็นคนดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมี

แต่ก็คงเหมือนกับใครหลายคน ความอยากรู้อยากเห็นของผมในวันนั้น จบลงเพียงความทรงจำเพียงว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคนดีมากๆคนหนึ่ง .....เท่านั้น

............................................

เมื่อผมกลับมาจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ผมต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิต
….ผมต้องเลือกทางเดินให้กับอนาคตของผม

ความที่ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงหลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมานาน การได้เห็นความทุกข์ยากของผู้คนที่เกิดจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้ผมสนใจเลือกทางเดินในการเป็น “หมอรักษาโรคเศรษฐกิจ” ให้กับสังคม
ผมเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์

และในช่วงเวลานั้นเอง ผมก็บังเอิญได้พบกับชายที่ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อีกครั้ง

วันหนึ่ง ด้วยแรงดลใจอะไรบางอย่าง ผมได้ค้นชั้นหนังสือเก่าที่บ้านเพื่อหาหนังสือออกมาอ่านเล่น
.....และผมก็ได้พบว่า พ่อของผมเคยสะสมหนังสือเล่มเล็กๆหลายเล่มที่เป็นหนังสือชีวประวัติของอาจารย์ป๋วย

ความทรงจำของผมกระตุ้นให้ผมหยิบหนังสือเล่นเล็กๆเหล่านั้น ออกมาอ่านทีละเล่มๆ

ผมยังจำได้ดีถึงความชื่นชมที่เกิดขึ้นในใจของผม เมื่อได้ทราบถึงเรื่องราวของอาจารย์ป๋วยโดยละเอียด

.....การได้อ่านหนังสือชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยเหล่านั้น ทำให้ผมรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิตคนๆหนึ่ง ว่ามีมากเหลือเกิน หากว่าคนๆนั้นเลือกดำเนินชีวิตในทางที่เปี่ยมไปด้วยการให้และเสียสละ

ด้วยความสามารถและชื่อเสียงเกียรติยศทีมากมาย อาจารย์ป๋วยยังเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และที่สำคัญคือคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตตลอดชีวิตการทำงาน

การได้พบกับอาจารย์ป๋วย อีกครั้งหนึ่งในวันนั้น ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าแห่งวิถีการเป็น “นักเศรษฐศาสตร์ที่ดี” และช่วยให้ผมตัดสินใจได้อย่างแน่วแน่ ว่าผมอยากจะเรียนเศรษฐศาสตร์

และหลังจากวันนั้นไม่นาน ผมก็ได้เข้ามาเป็นศิษย์ในสำนักที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้วางรากฐานไว้
“เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์”

……………………………………….

ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตผมพลิกผันเป็นอย่างยิ่ง
….ไม่ใช่ว่าผมพบเจอกับเรื่องเลวร้ายอะไร แต่ผมได้พบเจอกับเรื่องดีๆมากมายอย่างไม่น่าเชื่อต่างหาก

และหนึ่งในเรื่องดีๆที่ผมได้รับในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นความห่วงใยอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ท่านหนึ่ง

ในขณะที่ผมเองกำลังสับสนไปกับความเปลี่ยนของชีวิต จากเด็กที่ไม่มีความสามารถอะไรโดดเด่น กลายเป็นนักเรียนที่เรียนดีและได้รับความสนใจจากรอบข้าง

….คงเหมือนกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่เป้าหมายชีวิตที่เคยวางไว้ มันก็เลือนหายไปกับสภาพแวดล้อมบ้าง และแม้ว่ามันจะยังอยู่ แต่ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าความฝันกับความจริงมันจะไปด้วยกันได้อย่างไร

เป็นความโชคดีที่ผมได้รู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่งโดยบังเอิญ

และก็บังเอิญที่อาจารย์ท่านนั้นได้กลายเป็นอาจารย์ที่สนิทชิดเชื้อกับผมอย่างมากในเวลาต่อมา

เขาเป็นคนที่แนะนำให้ผมรู้จักกับคนหลายๆคนรวมถึงตัวเขาเอง ที่ยืนหยัดทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่ามีคุณค่า แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงหรือเงินทองมากมายก็ตาม

……และเขาก็เป็นคนที่คอยเตือนให้ผมระลึกถึงเป้าหมายที่ตัวเองเคยวางไว้ ไม่ให้มันจางหายไปกับสภาพแวดล้อม และช่วยให้ผมเกิดพัฒนาการทางความคิดในด้านต่างๆมากมาย ที่ผมเองคงไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง

หากขาดการชี้แนะจากเขาไป ผมก็คงไม่ได้มีหนทางเฉกเช่นในปัจจุบัน

เมื่อถึงเวลาที่ผมกำลังจะจบการศึกษา....เขาก็เป็นคนที่ผลักดันให้ผมคว้าโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งของชีวิตไว้

ผมเคยรู้สึกแปลกใจ เมื่อคิดไปว่าทำไมอาจารย์ท่านนั้นถึงได้ให้สิ่งดีๆมากมายกับผม

เมื่อได้รู้คำตอบถึงเหตุผล ผมเองก็ยังไม่อยากเชื่อเหมือนกัน

ที่อาจารย์ท่านนั้นให้สิ่งที่ดีๆกับผม ก็เพราะเคยมีอาจารย์ของเขาท่านหนึ่งให้สิ่งดีๆแบบเดียวกันกับเขา
และที่อาจารย์ของเขาให้สิ่งดีๆกับเขา ก็เพราะเคยได้รับความปรารถนาดีแบบเดียวกันจากอาจารย์ท่านหนึ่งและอยากจะสืบสานความปรารถนาดีเหล่านั้นให้กับคนรุ่นต่อไปเพื่อเป็นการตอบแทน

และอาจารย์คนที่เริ่มสายสัมพันธ์แห่งความปรารถนาดีท่านนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น
...เขามีชื่อว่า ”ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

………………………………

ในวันที่ผมได้รับฟังเรื่องโครงการนำนักศึกษาไปเรียนรู้เรื่องอาจารย์ป๋วยเป็นครั้งแรก
ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผมปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องทำ

.....ด้วยความโชคดีต่างๆที่ผมเคยได้รับจากคนที่ไม่เคยได้พบเจอตัวจริงอย่างอาจารย์ป๋วย ทำให้ผมรู้สึกว่าผมคงเห็นแก่ตัวเกินไปหากจะเก็บความโชคดีเหล่านั้นไว้เพียงคนเดียว

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น ของความพยายามทุ่มเทให้เกิด ”ค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วย” ของผม

ผมอยากให้ทุกคนที่ได้เข้ามาสู่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ทำความรู้จักกับอาจารย์ป๋วย และได้ข้อคิดต่างๆติดตัวไปในการดำเนินชีวิตในอนาคต

ผมอยากให้ทุกคนที่ได้เข้าร่วม “ค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วย” ได้รับรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของ “สายใยแห่งเจตนารมณ์” ที่อาจารย์ป๋วยมีให้กับสังคมไทยและลูกศิษย์ของท่านทุกคน

.....คงไม่มีใครที่จะเหมาะสมในการทำสิ่งเหล่านี้ไปกว่าเหล่าศิษย์ของท่าน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงก็ตาม

ผมเชื่อว่าการที่ผมได้เข้ามาอยู่ที่นี่ และมุ่งมั่นทำสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้ มันเป็นความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งต่างๆที่เคยได้พบเจอ ที่ผมเรียกมันว่า “ชะตาชีวิต”

และผมก็เชื่ออีกเช่นกัน ว่าการที่ทุกท่านได้มาร่วมกันในที่นี้ มันมีส่วนมาจาก ”ชะตาชีวิต” ของพวกท่าน

หวังว่าการได้เข้าร่วม “ค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วย” ครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกอะไรบางอย่างจากใจของท่านได้

ขอเพียงแค่ให้วันหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะทำอะไร ให้รู้สึกว่าท่านก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ป๋วยเช่นกัน และศิษย์ของอาจารย์ป๋วยก็ควรจะสืบสานเจตนารมณ์ของท่าน ทั้งด้วยการกระทำของตัวเอง และด้วยการให้ความปรารถนาดีกับคนอื่นๆต่อไป

ให้ชะตาชีวิตที่นำพาท่านมาสู่ที่แห่งนี้ ที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นั้นมีความหมายที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า

……………………………………

คุณเชื่อเหมือนผมหรือยัง ? ว่าชะตาชีวิตของคุณเอง...ก็มีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่

Tuesday, June 14, 2005

เฮ้อ ชะตากรรม หนอ ชะตากรรม

เฮ้อ ชะตากรรมหนอ ชะตากรรม

ไม่อยากเชื่อเลยว่าเวลาสี่ปีผ่านไป ผมจะต้องมาพบเจอเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน
....เรื่องราวที่เศร้าปนขำ แบบหัวเราะหึๆในลำคอได้พร้อมน้ำตาคลอเบ้า

..............................................

ณ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับตอนนี้เมื่อสี่ปีก่อน
...ในบ่ายวันที่ท้องฟ้าสดใส เหมือนจะเป็นใจให้กับความรักของคนทุกคน

ผมกำลังอยู่กับเธอคนนั้น เธอคนที่ผมเฝ้าใฝ่ฝันถึงมานาน
ความฝันของรักแรกในรั้วมหาวิทยาลัยของผมกำลังเป็นจริง!!

ผมและเธอเริ่มความสัมพันธ์อันดีมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว
และกำลังก้าวผ่านเส้นแบ่งของคำว่าเพื่อนไปสู่อะไรที่มากกว่านั้น

แต่แล้วในบ่ายวันนั้นเอง ผมก็ต้องได้ยินอะไรที่ไม่อยากจะเชื่อหูตัวเอง
เธอคนนั้นบอกกับผมว่า

"....เราว่าเราก็ชอบเธอนะ แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่พร้อม เราอยากให้หยุดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเธอไว้เพียงแค่นี้"

ผมฟังแล้วอึ้ง คิดอะไรไม่ออกไปนานหลายวัน กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก กินข้าวไม่ลง
....แต่ในใจก็ยังสู้ต่อ หวังว่าวันหนึ่งเธอนั้นจะพร้อม

จนได้มาเรียนรู้ในอีกหลายเดือนต่อมาว่า ที่เธอบอกว่าไม่พร้อมนั้น หมายถึงไม่พร้อมสำหรับผม แต่กับอีกคนหนึ่งเธอกลับพร้อมแล้ว

..................................................

สี่ปีผ่านไป ไม่อยากเชื่อว่าจะต้องได้ยินคำกล่าวที่คล้ายคลึงกันอีกครั้ง ในสถานที่ที่ห่างกันไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตร

".....กรรมการเห็นว่าคุณตอบคำถามได้ดี และคุณสมบัติคุณก็ดี แต่มันมีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้คุณไม่ได้ทุน"

มารับรู้ทีหลังว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ตัวผมเองไม่อาจทำอะไรได้จริงๆ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับตัวผม

ความรู้สึกกลืนไม่เข้า คลายไม่ออก กินข้าวไม่ลง กลับมาอีกครั้ง

โชคยังดีที่ครานี้มันมาไม่นาน เพียงแค่สองชั่วยามก็ผ่านไป
เทียบกับคราวก่อนที่ความรู้สึกดังกล่าวมาเยือนนานนับเดือนแล้ว ก็ถือว่าผมทำใจรับสภาพได้เก่งกว่าเดิมมาก

............................................

บางครั้งผมก็รู้สึกแปลกๆกับเหตุการณ์ทั้งสองอย่างข้างต้น เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันอยู่ภายใน

ทั้งสองเหตุการณ์นำมาซึ่งความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย

มันเหมือนกับ AC Milan ที่ไม่ได้แชมป์เพราะความโชคดีสุดๆของทีมขวัญใจชาวเมมทั่วโลก
และมันก็เหมือนกับคนที่ทำอะไรได้ดี แต่ไม่เคยดีพอจะได้อะไร

สิ่งที่เหมือนกันกว่านั้นคือ ความตลกเศร้าของชะตากรรม

บางครั้งชะตากรรมที่ผมได้พบก็ทำให้ผมรู้สึกว่าโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมา
แต่บางครั้งชะตากรรมก็ทำให้ผมต้องพบกับความเศร้าแบบงงงง ทำตัวไม่ถูก

แต่มันก็เป็นสัจธรรมของโลกมนุษย์ที่ทุกคนจะต้องเจอ

Monday, June 06, 2005

Mission (Possible?) of My Life

เนื่องจากวันมะรืนนี้ผมกำลังจะเข้าสัมภาษณ์ทุน
คำถามที่ผมพบบ่อยมากในขณะนี้คือ....

เตรียมตัวพร้อมหรือยัง?

ผมเองเกิดคำถามขึ้นในใจอยู่เสมอเวลาได้ยินคำถามดังกล่าว
เอ...ไอ้การถูกสัมภาษณ์ทุนเนี่ย มันจะต้องเตรียมตัวยังไงฟะ?

มันคงไม่เหมือนกับการสัมภาษณ์นางงาม...แบบที่มีลิสต์คำถามที่เป็นไปได้ แล้วก็มานั่งหาคำตอบสวยๆ หรูหรา ชนะเลิศ

จะทำแบบนั้นมันก็ได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างที่เราตอบ
ถ้าเขาให้ทุนผมมา แล้วผมทำไม่ได้ หรือไม่กะจะทำตามที่ผมบอก ผมก็หลอกเขาน่ะสิ

คิดดูแล้ว ผมคงบอกไปตามจริงนั่นล่ะ เอาแบบที่ผมกะไว้ว่าจะทำอยู่แล้ว
จะได้ไม่ได้ก็ความคิดผม แผนการชีวิตของผม

แต่ทีนี้ผมจะบอกแผนการชีวิตของผมกับเขาว่ายังไงดี

เอางี้ ช่วยผมหน่อยละกัน...ผมขออนุญาตให้พวกท่านเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ผมดีกว่า
ถ้าใครไม่เคยเป็นก็ลองสวมวิญญาณครูอ้วน มาให้คะแนนดันดารากันหน่อย

คำถามต่อไปนี้เป็นคำถามที่ผมคาดว่าจะต้องโดนแน่ๆในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

ช่วยฟังคำตอบของผมดูนะครับ ว่าซึ้งไม่ซึ้ง
หากมีคอมเมนต์ด้วยจะดีมากๆเลย

................................................

คำถามแรก ผมอยากจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

คำถามนี้ตอบง่ายในเบื้องต้น
เพราะผมก็เป็นอย่างที่ผมอยากเป็นอยู่แล้ว คือเป็นอาจารย์

ทำไมผมถึงมาเป็นอาจารย์...
ผมชอบอาชีพนี้ด้วยเหตุผลสามประการ

ประการแรก ผมได้สอน ได้สร้างความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ
ผมคิดว่าการประสิทธ์ประสาทความรู้ให้กับคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดอันดับแรกๆที่คนๆหนึ่งจะทำได้
ผมมีความสุขเวลาที่ได้สอน เพราะมันรู้สึกอยู่ตลอดว่าสิ่งที่ทำมันมีค่า อย่างน้อยผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสังคมให้ดีขึ้น

ประการที่สอง ผมสามารถทำหน้าที่นำทางให้กับสังคม
การเป็นนักวิชาการย่อมหมายถึงผมจะเป็นคนๆหนึ่งทีมีหน้าที่ศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันไม่ให้สังคมถูกชี้นำไปในทางที่ไม่ควร และให้คำแนะนำแนวทางที่ผมเห็นว่าสมควรได้ หน้าที่ดังกล่าวมีค่ามากเหลือเกินสำหรับผม

ประการที่สาม ผมมีอิสระในการทำงาน
แน่นอน การเป็นอาจารย์ช่วยให้ผมไม่ต้องทำงานเพื่อให้ใครพอใจ หากผมคิดยังไงผมก็พูดก็เขียนได้ตามที่ผมคิด ไม่ต้องเกรงว่าหน้าที่การงานของผมจะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ความอิสระดังกล่าวเป็นความสุขที่หาได้ยากจริงๆในอาชีพอื่น

ในอนาคตผมอาจจะเปลี่ยนตัวเองไปอยู่ในอาชีพอื่นบ้างก็ได้ แต่ก็คงหลังจากผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับหน้าที่ต่างๆในการเป็นอาจารย์ข้างต้นอีกต่อไป หรือผมได้รับความท้าทายใหม่ๆที่ยากจะปฎิเสธ
.............................

คำถามที่สอง ผมอยากจะเรียนทางด้านไหน สิ่งที่ผมจะไปเรียนจะมีประโยชน์อย่างไร

ผมอยากจะไปเรียนด้านการพัฒนา
ผมมาเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะผมชอบที่วิชานี้มันสามารถใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของคนได้

เมื่อผมได้เข้ามาร่ำเรียนวิชานี้จริงๆ ผมเห็นปัญหาใหญ่ที่ผมอยากจะแก้ไข

ผมอยากจะแก้ปัญหาความแตกต่างทางระดับการพัฒนาในประเทศของเรา
ผมมองว่าประเทศไทยนั้น ยังมีความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ในเมืองกับในชนบทอยู่มาก

ในขณะที่คนเมืองส่วนใหญ่มีระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ดีและค่อนข้างดี คนในชนบทจำนวนมากยังต้องทำงานที่รายได้ต่ำกว่ามาก ทั้งยังมีเสรีภาพพื้นฐานที่จะได้รับการศึกษา การสาธารณสุข การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเข้าถึงตลาดที่ด้วยกว่าคนเมืองมาก

ผมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะพัฒนาชนบทให้เป็นเมือง ชนบทควรมีวิถีของตัวเอง
แต่อย่างน้อยคนชนบทก็ควรได้รับเสรีภาพพื้นฐาน(ขออนุญาตใช้คำว่าเสรีภาพ ตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาดุจเสรีภาพของ อมาร์ตยา เซน)ข้างต้นเท่าเทียมกับคนเมือง

จะได้มาด้วยวิธีใดนั้น ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องสร้างโครงสร้างที่เหมาะสม

หัวใจหลักสุดท้ายของการพัฒนาชนบทก็อยู่ที่ตัวคนชนบทเอง

พอมีเสรีภาพที่ผมเสนอมาข้างต้นอย่างเพียงพอแล้ว กุญแจสุดท้ายที่จะดึงชาวชนบทออกจากวงจรของปัญหาความยากจนได้ก็คือความสามารถในการประกอบการ (Entrepreneurship) ของชาวชนบท ซึ่งรัฐต้องพยายามสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในด้านดังกล่าวให้กับพวกเขา

ทั้งหมดคือแนวคิดด้านการพัฒนาที่มาจากองค์ความรู้อันน้อยนิดของผม

เรื่องหนึ่งที่น่าแปลกคือ แม้คนในประเทศของเราจะรู้ตัวมานานแล้วว่าเราเป็นประเทศที่ขาดความเท่าเทียม แต่ความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังก็ยังหายาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ดูเหมือนคนในสังคมเราจะชินกับสภาพ และไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาอะไรเสียแล้ว

ที่น่ากลัวก็คือ ปัญหาของชนบทในปัจจุบันกลับดูจะแย่ลงเรื่อยๆ
เมื่อชนบทต้องเผชิญกับระบบทุนนิยม ที่พวกเขาถูกกระตุ้นให้บริโภคมากๆ และแก้ปัญหารายได้ไม่พอใช้ด้วยการกู้ยืม หนี้สินมากมายก็ตามมา และยิ่งภายใต้นโยบายรัฐที่สนับสนุนปรากฏการณ์ดังกล่าวเช่นในปัจจุบัน หมิ่นเหม่เหลือเกินที่ชนบทอาจจะถูกดึงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

สำหรับคำถามที่ว่าสิ่งที่ผมอยากไปเรียนจะมีประโยชน์กับประเทศอย่างไร

ผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์มาก
อย่างน้อยคนที่เลือกไม่ได้แต่ต้องเกิดมาเป็นคนไทย ก็จะได้มีโอกาสที่จะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ลองคิดดูสิ หากคุณกำลังจะลงมาเกิดที่ประเทศไทยในตอนนี้ คุณคงลุ้นแทบตายว่าจะเกิดเป็นชาวชนบท หรือเกิดเป็นคนในเมือง เพราะสภาพความเป็นอยู่ที่คุณจะได้รับมันจะแตกต่างกันมาก

สังคมไม่น่าจะโหดร้ายกับความแตกต่างที่เลือกไม่ได้ขนาดนี้

แต่มากกว่านั้น ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม จะช่วยให้การพัฒนาด้านอื่นๆง่ายยิ่งขึ้น
ความล้มเหลวของกระบวนการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบันหลายๆด้าน เช่น การพัฒนาประชาธิปไตย หรือ การพัฒนาการสาธารณสุข ก็ล้วนมาจากความพยายามเอาระบบที่ตนเองคิดว่าดีมาครอบลงบนโครงสร้างที่มีความไม่เท่าเทียมกันสูง

ผลก็คือระบบเหล่านั้นไม่สามารถให้ผลที่ดีได้ตามคาด หรือแม้กระทั่งอาจให้ผลที่แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมจึงเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านอื่นๆของสังคมได้ต่อไป

.........................................

คำถามที่สาม ผมวางแผนอะไรไว้ในอนาคตบ้าง

ผมแบ่งชีวิตของตนเองที่เหลือไว้เป็นสี่ช่วง

ช่วงแรกคือช่วงอายุ 22-30

ผมคิดว่าจะใช้เวลาช่วงนี้ในการหาความรู้ ซึ่งหมายถึงการเรียนต่อจนจบปริญญาเอกนั่นเอง ผมอาจจะจบกลับมาก่อนอายุสามสิบก็ได้ แต่ยังไงก็คิดว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงนี้ศึกษาหาความรู้ในด้านอื่นๆต่อไป รวมทั้งฝึกฝนการทำงานให้เป็นมืออาชีพ ฝึกวัตรปฏิบัติให้มีความพากเพียร และฝึกการวางตัวให้เหมาะสม

ช่วงที่สองคือช่วงอายุ 30-40

ผมคิดว่าช่วงนี้ผมจะใช้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่กับงานประจำของผมในการเป็นอาจารย์ให้เต็มที่ ตามการคาดหมายของผมนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจะประจบเหมาะกับเวลาที่คณะอันเป็นที่รักต้องการหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆมาเป็นแรงขับเคลื่อนพอดี ผมจะลุยงานต่างๆที่เข้ามาให้ถึงที่สุด และสั่งสมประสบการณ์เพื่อสร้างตัวเองให้สุกงอม

ช่วงที่สามคือช่วงอายุ 40-55

ช่วงนี้จะเป็นช่วงจุดสูงสุดของการทำงานของผม ซึ่งถึงเวลานั้นแล้วผมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายความสำเร็จที่ผมอยากจะได้รับไปตามสภาวะที่เปลี่ยนไป ทั้งของตัวเองและภายนอก ผมเองอาจจะเปลี่ยนที่ทำงานก็เป็นได้ หากเป้าหมายและความท้าทายที่ผมมีมันไม่เหมือนเก่า แต่ถึงอย่างไรผมจะไม่ทิ้งอุดมการณ์เดิมที่ผมมีมาแต่ต้น การทำงานในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ประสบการณ์ของผมที่สุกงอมแล้วจะถูกดึงออกมาใช้อย่างเต็มที

ช่วงที่สี่คือช่วงอายุ 55-อำลา

ตัวผมเองก็ไม่รู้จะอยู่ถึงตอนนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าผมอยู่ถึง ผมจะใช้เวลาช่วงนั้นเป็นช่วงสุดท้ายที่ผมจะทำงาน งานของผมในตอนนั้นจะไม่เป็นงานบริหารหรืองานที่ต้องลุยอีกต่อไป ผมอยากจะใช้เวลาในช่วงปลายของชีวิตการทำงานเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของผมให้กับคนรุ่นหลัง อย่างน้อยเขาก็จะได้เรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลวที่ผมได้รับ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนที่ผมรักและเติบโตมาในวัยเด็ก

.............................

รู้สึกว่าจะเขียนมายาวแล้ว เดี๋ยวคนอ่านจะอ่านไม่ไหวเสียก่อน

ต้องขอโทษด้วยที่ผมนำท่านๆเข้ามารู้เรื่องที่ตัวท่านเองไม่ค่อยได้รับประโยชน์อะไร

คิดเสียว่าทำบุญให้ผมโดยการนั่งฟังผมสาธยายเรื่องของตัวเองละกันครับ

ขอบคุณทุกท่านหากท่านอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณจริงๆ

..............................