Wednesday, May 31, 2006

ท่าไม้ตาย

หลังจากเมื่อตอนเช้าต้องตื่นขึ้นมาเพราะปวดท้องจนทนไม่ไหว

ผมก็ใช้เวลาในห้องน้ำนึกอะไรสนุกๆออกมาได้

เหล่าคนที่ผ่านวัยเด็กในช่วงไม่เกินยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาคงรู้จักคุ้นเคยกับคำว่าท่าไม้ตายเป็นอย่างดี

....เช่น ท่าไม้ตายหมัดดาวตกของเซนต์เซย่า (ใช่ป่าวไม่แน่ใจ) ท่าพลังคลื่นเต่าของซุนโงคู ท่าโชริวเคนของริว (จาก Street Fighter) รวมถึงท่ารวมตัวยิงบาซูก้าของเหล่าเรนเจอร์ทั้งหลาย

(ถ้าท่านไม่รู้จักอะไรพวกนี้ก็ต้องขอโทษด้วย เราคงอยู่คนละรุ่นกันจริงๆ)

ทั้งหมดล้วนเป็นท่าไม้ตายที่น่าตื่นตาตื่นใจ ใช้เพื่อเผด็จศึกศัตรูได้ภายในการโจมตีเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง

เวลาเหล่าตัวเอกในเกมหรือการ์ตูนที่พูดมาหยิบมาใช้ทีก็น่าตื่นตาใจเป็นอันมาก

มาถึงท่าไม้ตายที่ผมนึกออกเมื่อตอนเบ่งอึเช้านี้ (อย่าคิดลึกเกินไป แม้ผมจะทำธุระส่วนตัวอยู่ก็ตามแต่ก็มีใจนึกถึงปัญหาสังคม) เป็นท่าไม้ตายที่เราพบได้ทั่วไปในสถานการณ์วิกฤตการเมืองปัจจุบัน

ทั้งจากเหล่า กกต. ทั้งสามที่ยังดึงดันทำหน้าที่ของตนอยู่ต่อไป แม้จะมีกระแสไล่ให้ออกไปจากผู้คนเกือบทั้งบ้านทั้งเมือง และแม้จะมีการกดดันแล้วกดดันอีกจากสามศาล

ทั้งจากประธานวุฒิสภา ผู้ทำหน้าที่หาทางออกให้วิกฤตของเหล่ากกต. แม้วิธีจะน่าเกลียดแบบโจ่งแจ้งไปบ้าง แต่ด้วยความภักดีอย่างสุดตัวต่อพรรคไทยรักไทย ท่านประธานก็ทำไปได้ (ท่านน่าจะลงสส.หลังจากเป็นสว.นะ ไหนๆก็สังกัดพรรคอยู่แล้ว)

สุดท้าย จากสถานการณ์ล่าสุด หลังจากที่มีการนำเอาภาพวีดีโอวงจรปิดมาเปิดเผย ผ่านไปสองวัน ท่านรมต.กลาโหม ก็ออกมาปฏิเสธได้แบบข้างๆคูๆมากๆว่า ในนั้นน่ะไม่ใช่กรู เป็นช่างภาพที่หน้าเหมือนกันต่างหาก
(....แหม่ คิดนานเหมือนกันนะท่าน มุขเนี้ย)

ทั้งหมดทำให้ผมพอสรุปได้ว่า ปัจจุบันเรากำลังต้องเผชิญกับ "ท่าไม้ตาย" ของเหล่าผู้มีส่วนทางการเมือง ซึ่งไม่รู้ว่าได้สืบทอดกระบวนท่าต่อมาจากท่านผู้นำสูงสุดกันหรือเปล่า แต่ใช้กันได้ดาดดื่นมากๆ

ท่าไม้ตายที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ

"กระบวนท่าหน้าด้าน"

ตอนนี้ผมก็ยังงงงวยอยู่กับกระบวนท่านี้อยู่ ไม่รู้จะแก้ท่านี้ได้ยังไง

ยังไงถ้ามีผู้ใดคิดวิธีแก้"กระบวนท่าหน้าด้าน"อันนี้ออก ก็ขอความกรุณาช่วยบอกผมทีเถอะ ผมคิดไม่ออก

Wednesday, May 03, 2006

ประชานิยมขายฝัน ปัจจุบันที่ถูกละเลย

วันนี้ขอเขียนเรื่องการเมืองบ้างครับ เห็นที่ผ่านมาไม่เคยเขียนลงในบล็อคเลย เผื่อจะกลายเป็นบล็อคที่มีสาระขึ้นมาบ้าง

จริงๆผมก็ติดตามเรื่องการเมืองมาบ้างพอควร โดยเฉพาะในฐานะคนดู..อ่าน..และพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อื่นบ้าง

แต่ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนมาประสบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานของประเทศ

"วิกฤตการเมือง" ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีโอกาสได้ประสบกับตัวเอง เหมือนกับหลุดมาจากหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย (ซึ่งมีแต่เรื่องน่าทึ่งถ้าค้นลงไปลึกๆ)ที่ผมเคยอ่านแล้วก็รำพึงกับตัวเองว่า

"อืม....อย่างงี้ก็มีด้วย"

เข้าเรื่องดีกว่า วันนี้ขอบ่นเรื่องนโยบายประชานิยมแบบเน้นแก้ปัญหาความยากจนของชาวรากหญ้า เพราะเป็นเรื่องที่สนใจมานานแล้ว และก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปเรียนในเร็ววันนี้ (ผมไปเรียนเน้นด้านการพัฒนา)

หลายๆคนคงเคยตั้งข้อสงสัยกับนโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ...ว่ามันมีปัญหาเช่นไร

ทำไมเหล่านักวิชาการหลายๆท่านถึงได้กร่นด่ากันหนักกันหนา ทั้งๆที่นโยบายหลายๆชุดก็เป็นนโยบายที่ถูกใจคนบางกลุ่มในประเทศเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะ...นโยบายที่เรียกกันว่า "ประชานิยม"

ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือคนยากคนจนในต่างจังหวัด เช่น กองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอล พักหนี้เกษตรกร และอื่นๆอีกมากมาย

นโยบายเหล่านี้ ชูให้คุณทักษิณกลายมาเป็นขวัญใจของชาวรากหญ้า เป็นอัศวินควายดำที่ยื่นมือมาช่วยเหลือพวกเขา กลายเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการชูนโยบายหาเสียงแบบ"ประชานิยมมุ่งสู่รากหญ้า" ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

หากจะถามว่าเป็นความสามารถที่สุดแสนจะน่าชื่นชมของคุณทักษิณหรือไม่? ส่วนตัวผมว่ามีส่วนแต่ไม่ทั้งหมด

ส่วนที่ไม่ทั้งหมดก็คือ...มันน่าทึ่งเหมือนกันต่างหาก ว่าที่ผ่านมาทำไมไม่เคยมีพรรคการเมืองใหญ่ๆพรรคใด หาเสียงโดยมุ่งนโยบายไปที่การแก้ปัญหาให้คนยากคนจน

ก็คงเป็นเพราะการเมืองไทยเพิ่งผ่านช่วงเผด็จการทหารมาไม่นานนัก และผ่านมาได้ก็เข้าสู่ช่วงการเมืองสกปรกอีกนาน ทำให้ปัจจัยสำคัญที่นำพรรคการเมืองไปสู่การเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ใช่ "นโยบาย" แต่เป็น "เกมการเมือง"

กลับมาสู่ประชานิยมของคุณทักษิณอีกครั้ง

แล้วปัญหามันคืออะไร?

ผู้นำซึ่งประกาศกร้าว หลังจากเข้ามาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานว่า "ความยากจนจะหมดไปใน 6 ปี" ได้ใช้ความพยายามมากมายในการสร้างฝันให้ชาวบ้านผู้ยากไร้

ผู้ซึ่งรอวันนี้มานานแสนนาน วันที่ตนเองจะได้พ้นวงจรอุบาทว์ โง่ จน เจ็บ โดยการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ใช่ซิ จากเทวดาในร่างนักการเมืองต่างหาก

คำสัญญาที่คุณทักษิณมีให้กับชาวบ้านที่ยากจนได้รับการตอบสนองด้วนนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวชนบท

มีกองทุนให้กู้ยืม ให้ชาวบ้านได้ใช้เงินดังกล่าวไปสร้างการกินอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะนำไปซื้อมือถือ บัตรเติมเงิน ทีวี ตู้เย็น หรือแสงโสมก็ได้

หรือถ้าดีหน่อยจะเอาไปซื้อรถกระบะมาใช้ส่งสินค้าเกษตรของตน ก็จะได้ช่วยเสริมการประกอบอาชีพไปในตัว

ฝันต่างๆของชาวชนบทถูกเสริมด้วยการทำ"การตลาด"อันดีเยี่ยมตลอดเวลาจากรัฐบาล สินค้าโอท็อปถูกนำเสนอเป็นสินค้าส่งออกชั้นดี มีการเตรียมตัวเช่าร้านค้าในนิวยอร์กเพื่อพาสินค้าไทยไปโกอินเตอร์

ชาวบ้านอาจจะได้ฝันเคลิ้มไปไกลกับ"การตลาด"ที่คุณทักษิณมีให้

แต่ปัญหาที่ตามมานั้นมันพะรุงพะรัง

การให้ความช่วยเหลือกับชาวชนบทเป็นเรื่องดี แต่แค่ให้ความช่วยเหลืออย่างเดียวมันไม่พอ

มีปราชญ์ด้านการพัฒนาเคยกล่าวไว้ว่า "อย่าคิดว่าแค่หวังดีแล้วจะเพียงพอ ความหวังดีโดยไม่พินิจพิเคราะห์สิ่งที่ทำลงไปนั่นล่ะจะกลายเป็นปัญหา"

กับความช่วยเหลือที่คุณทักษิณมีให้นั้น ถ้าเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจริงๆก็น่าชื่นชมอยู่
แต่ถ้าไปไปเพื่อ "คะแนนความนิยม" มากกว่าละก็ มันก็ไม่ต่างจากเล่ห์กลในการเข้าสู่อำนาจ

ปัญหาที่เกิดจากนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณนั้น เรื่องใหญ่ก็คือ คุณทักษิณเน้นนโยบายที่เป็นรูปธรรม การช่วยเหลือที่เห็นได้ชัดๆว่าช่วย เน้นการให้แบบเห็นๆว่าช่วย เช่น ให้เงิน ช่วยลดหนี้ แจกของ สร้างนู่นสร้างนี่ให้(สิ่งเหล่านี้ถ้าดูเรียลลิตี้โชว์แก้จนที่อาจสามารถก็คงพอเห็นภาพการแก้จนแบบทักษิณ)ซึ่งเห็นผลได้ชัดในระยะสั้น

คุณทักษิณไม่เน้นการพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือและพัฒนาตนเอง เช่ย การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาทักษะต่างๆ การสร้างชุมชนให้แข็งแกร่ง ให้พึ่งตนเองพัฒนาตนเองได้ สาเหตุที่ไม่เน้นก็คงเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเห็นผลได้ยาก ต้องใช้เวลานาน ไม่เหมาะกับการทำการตลาดทางนโยบาย

และที่สำคัญก็คือ....

นโยบายประชานิยมแบบคุณทักษิณได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวรากหญ้า

มันทำให้เขาเฝ้ารอการช่วยเหลือ คิดว่ามันหนึ่งจะมีคนมาพาเขาออกไปจากความเป็นอยู่ที่ยากแค้น

กับทัศนคติที่คุณทักษิณสร้างไว้ อาจจะไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า ต่อจากนี้ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่ต้องการจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ต้องมี "ประชานิยมขายฝัน" ไว้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งยังประสบปัญหาความยากจนอยู่เช่นกัน

นี่ล่ะคือปัญหาพะรุงพะรังที่เกิดขึ้นตามมา

เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ก็คือการพัฒนาที่เกิดจาก "การพัฒนาตนเอง"
คุณทักษิณได้ดึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของตนเองออก และแทนที่ด้วย "ความฝัน"

ความฝันนั้นแม้มันจะหอมหวล ชวนให้คนเรามีความสุขไปได้ในยามที่นึกถึง

แต่ก็อย่าลืมว่าไม่มีความฝันอันใด จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตจริงได้ ถ้าคนที่ฝันไม่พยายามพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ชุมชนในชนบทของไทยในเวลานี้ก็เหมือนกัน ที่ต่างก็ติดอยู่ใน"ความฝัน"

หารู้ไม่ว่าวันหนึ่งตนเองอาจจะตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ชีวิตจริงก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าแต่ก่อนซักนิด มิซ้ำอาจแย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อวงจรการหมุนเวียนหนี้ที่ตนเองสร้างไว้จากการช่วยเหลือของรัฐบาลเกิดมีปัญหา หรือเมื่อสายสัมพันธ์ที่เคยเชื่อมโยงชุมชนให้แข็งแกร่ง ทุนทางสังคมที่เคยสร้างความเอื้ออาทรแก่กัน ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบทุนนิยมสามานย์ เขาอาจพบตนเองโดดเดี่ยวบนระบบที่ต่างคนต่างเดินตาม self-interest ของตนเต็มที่

ถึงวันนั้นการแก้ปัญหาความยากจนของไทย อาจต้องไปเริ่มแก้ที่ปัญหาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เหล่านี้ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนกลับมาแก้ปัญหาที่มีมาแต่เดิม

กับวันนี้ที่เราคนไทยต่างมุ่งหวังว่าวิกฤตการเมืองจะถูกแก้ไขได้ด้วยการแก้"รัฐธรรมนูญ"
เราอาจจะต้องถามตนเองให้มากขึ้นว่า แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวมันจะเพียงพอหรือ?

โครงสร้างเชิงสถาบันอันบิดเบี้ยวของสังคมไทยปัจจุบันคงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ "รัฐธรรมนูญ" เพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่เกิดขึ้นที่ตัวสังคมเองด้วย

"การปฏิรูปการเมือง" ไม่ควรถูกเน้นจนกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียว แต่ควรเป็นหนึ่งในกระบวนการ "ปฏิรูปสังคม" ที่จะแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็ง การสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย

เราคงต้องพินิจพิเคราะห์ และตั้งคำถามกับคำกล่าวต่างๆที่ออกมาจากนักการเมืองให้มากขึ้น เพราะวันนี้ลักษณะการตีความเรื่องที่น่าจะง่ายหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม กลับถูกทำให้ยาก ด้วยคำอ้างเช่น ไม่ผิดกฏหมาย ใครๆเขาก็ทำ หรือเก่งก็มีสิทธิโกงได้

และกับนโยบายประชานิยมขายฝัน เราคงต้องพยายามทำความเข้าใจลักษณะของมันให้มากขึ้น

เราคงไม่สามารถว่าอะไรคนชนบทที่ชื่นชอบนโยบายเหล่านี้ได้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากมันจริงๆ

แต่เราคงพอเฝ้าระวัง และให้ความรู้กับชาวชนบทบางกลุ่มที่ครุ่นคิดกับสิ่งที่เขาได้รับได้ แล้ววันหนึ่งความคิดอ่านของเขาก็อาจขยายไปสู่คนอื่นๆและชุดให้พวกเขาตื่นจาก"ความฝัน" ที่ถูกสร้างขึ้นกลับมาสู่ "ความจริง" ที่พวกเขาจะต้องเผชิญและก้าวฝ่าปัญหาของตนไปด้วยตนเองเป็นหลัก

ขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีบราซิล ประเทศซึ่งผ่านยุคนโยบายประชานิยมมาก่อนหน้าเรา และคงได้เรียนรู้อะไรมามากพอควรเกี่ยวกับ"ประชานิยมขายฝัน"

"No one lives forever on unfulfilled promises, on thwarted hopes"

(FERNANDO HENRIQUE CARDOSO, อดีตประธานาธิดีบราซิล)