Tuesday, June 05, 2007

กลายเป็น Nerd 100%

หลังๆมานี้เจอเพื่อนทั้งฝรั่งและไทยถามคำถามเดิมๆใส่บ่อยๆ

ประมาณว่า เอ่อ(Sub-Thai)...นายอ่ะ วันๆทำไรบ้าง อ่านหนังสืออย่างเดียวเลยเหรอ ออกไปเล่นไรอย่างอื่นบ้างป่ะ มีเพื่อนบ้างไหม

เอ่อ เพิ่งรู้สึกตัวเหมือนกัน (ว่ะ) ว่าพักหลังมานี่ กลายเป็นโคตร Nerd หันหลังให้สังคมมากๆ หมกหมุ่นอยู่กับเรื่องตัวเอง ไม่ค่อยได้สนใจคนอื่นๆเลย ปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยมาก

จริงๆเนี่ย เมื่อก่อนก็ไม่เป็นนะ โดยเฉพาะตอนอยู่วชิราวุธ ตอนนั้นเนี่ยยังเรียนโง่มากอยู่ วันๆก็เรื่อยเปื่อยไป ชีวิตไม่มีสาระ มีแต่เพื่อน

รู้สึกจุดเปลี่ยนจะไปอยู่ตอนเข้าธรรมศาสตร์น่ะ โง่ๆอยู่ดีๆก็ฉลาดขึ้นมา งง เหมือนฝันไปเลย

แต่พอเริ่มบินสูงแล้วก็เริ่มแบก แบกความหวังตัวเอง แบกความสำเร็จ มันก็หนักอ่ะนะ แต่ก็ทำไงได้ ก็ตัดสินใจจะปีนเขานี่ เหนื่อยนิดหน่อยก็ทนๆกันไป

รู้สึกว่าจะเริ่มซีเรียสกับชีวิตเพิ่มขึ้นมากๆตอนอยู่ธรรมศาสตร์

แต่ก็ยังไม่มากเท่าไหร่ มีเพื่อนๆที่รักบี้คอยเล่นตลก เพื่อนๆบีอีก็ฮาไปได้เรื่อยๆ ชอบสาวคนโน้นคนนี้บ้าง อกหักบ้าง อินเลิฟบ้าง

ชีวิตมาเปลี่ยนจริงๆตอนเป็นอาจารย์มั้ง

แบบว่าเข้ามาแล้วรู้สึกล้มเหลวในอาชีพการงานมากๆ รู้สึกพิการทางปัญญา

ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านจากนักเรียนเป็นคนทำงานของเราล้มเหลว เราสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับตัวเองไม่ได้ สร้างวินัยในการทำงานไม่ได้ (แบบว่าเป็นอาจารย์เนี่ยมันสบาย เราก็เลย ชิล...ซะ)

ก็สอนหนังสือโอเคนะ จัดกิจกรรมให้คณะดีๆบ้าง แต่ผลงานวิชาการแแบไม่มีเรย ถึงมีก็ไม่ค่อยดี สาเหตุน่ะหรือ ก็เพราะความชิลนั่นล่ะ

ประสบการณ์ที่สำคัญคงเป็นทุนอานันมั้ง ครั้งแรกรู้สึกโชคร้าย ครั้งสองรู้สึกพังทลาย

แต่ก็ต้องขอบคุณทุนอานันครั้งที่สองมากกว่าครั้งแรก ทำให้สำนึกไปนานจริงๆว่าความประมาทในชีวิตมันมีผลเสียยังไง

ขอบคุณที่ทำงานที่รักด้วยที่จัดบทเรียนให้ สงสัยเห็นเราเคยบ่นว่าอยากให้มีคอร์สอบรมให้อาจารย์ใหม่เยอะๆ เลยจัดให้หนึ่งบทใหญ่

เป็นอาจารย์อยู่เกือบสองปีก็มาเรียนต่อแบบซมซาน ความมั่นใจลดลงไปเยอะ

ก็เพิ่งมาสร้างใหม่เอาที่นี่ ค่อยดีขึ้นมาหน่อย

แต่รู้สึกจะจริงจังกับชีวิตมากๆเลย พักหลังเนี่ย แบบว่าจะต้องไม่ผิดพลาดอีกครั้ง เหมือนคนหลังพิงฝาชอบกล

คิดแล้วก็สะท้อนไปถึงตอนอยู่โรงเรียนเหมือนกันแฮะ ตอนนั้นเนี่ยไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไรให้ชีวิตตัวเองเลย ทำอะไรก็ไม่เคยตั้งเป้าให้มันดีเลิศ ก็เอาตัวรอดดาบหน้าไปเรื่อย

...ชีวิตคนเนี่ย มันเปลี่ยนไปเร็วเนอะ

Saturday, June 02, 2007

ลัทธิ เศรษฐกิจพอเพียง

ขออู้งาน โดยการเอาบทความนสพ.มาแปะ

รัฐอยู่ที่ไหนในเศรษฐกิจพอเพียง
นิธิ เอียวศรีวงศ์

มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1384

นิยามใหม่ของเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมได้ยินมา ประกอบด้วยคุณลักษณะสี่ข้อดังนี้คือ

ความมีเหตุผล/ การทำอะไรพอกับกำลังของตน/ ความรอบรู้/ ความไม่ฟุ้งเฟ้อ
(ความเห็นกระต่าย: เป็นนิยามที่ครอบจักรวาลโคตรๆ ยิ่งกว่าคำสอนในศาสนาใดๆ สับสนๆๆๆๆ คลุมเครือๆๆๆๆๆ)

ว่ากันว่าสามารถนำไปใช้กับคนในทุกวิถีชีวิต นับตั้งแต่กรรมกรไปจนถึงเจ้าของบริษัทเบียร์

นับเป็นการขยายความจากพระราชดำรัส ซึ่งอาจมีนัยยะไปในทางวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพียงด้านเดียว ถือว่าดีนะครับ คือช่วยกันขยายความและตีความให้ข้อเสนอของใครก็ตามที่เห็นว่ามีส่วนดี สามารถใช้ได้กว้างขวางขึ้น ... แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมจะเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะที่จริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอซึ่งมีส่วนดีนั้นนั่นเอง

ผมก็เห็นพ้องว่า หากขยายความอย่างที่เขาทำกันอยู่เวลานี้ (ซึ่งน่าสังเกตว่าล้วนทำโดยคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ นับตั้งแต่ รมต.คลังไปจนถึงนักธุรกิจ) อาจนำไปเป็นหลักในการประกอบการของคนได้หลายกลุ่มจริง

เหมือนคำสอนในการบริหารธุรกิจทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นหลักอันปลอดภัยในการประกอบการแก่คนที่อยู่ในตลาด

แต่ที่ผมสงสัยก็คือ แล้วรัฐอยู่ที่ไหนล่ะครับ หรือศีลธรรม (เช่น ความรู้จักประมาณตนและความไม่ฟุ้งเฟ้อ) จะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ
(ความเห็นกระต่าย: รัฐใช้ปากครับ ใช้ปากบอกศีลธรรม มือตีนมิต้องทำไร)

ถ้าอย่างนั้น เศรษฐกิจพอเพียงคือการจัดการบริหารรัฐโดยไม่ต้องมีการเมืองใช่หรือไม่?
(ความเห็นกระต่าย: การเมืองอาจมี แต่ประชาธิปไตยไม่น่ามีนะครับ)

ในประเทศอื่นๆ รัฐมีบทบาทในการเสริมหลักการบริหารธุรกิจอย่างไม่สุ่มเสี่ยงและงอกงามอย่างมั่นคงมากทีเดียว ความรอบรู้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องแสวงหาเพียงฝ่ายเดียว

รัฐจะร่วมลงทุนกับการแสวงหาความรู้ดังกล่าวอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัย, อุดหนุนการวิจัย, หรือปรามการใช้ความรู้ในทางที่ผิด (เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงเกินขนาดซึ่งย่อมทำลายตลาดของตนเองในระยะยาว)

มีระบบภาษีและการยกเว้นภาษี (ไม้เรียวและขนม) ที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ไม่ลงทุนเกินกำลัง หรือเฉื่อยแฉะไม่หมุนกำไรมาสู่การลงทุนเลย

ความมีเหตุมีผลในการประกอบการ มาจากศีลธรรมของผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง แต่รัฐก็มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการป้องกันความโลภมิให้ครอบงำได้ เพราะรัฐสามารถเข้าไปทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประกอบการ รัฐจึงสามารถทำให้การดำเนินการที่ไม่มีเหตุผลกลับเป็นการเสียเปรียบ

รัฐไทยทำอะไรบ้างกับหลักการกว้างๆ ของการบริหารธุรกิจ ผมคิดว่าไม่ได้ทำหรือทำน้อยมาก เราอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดใน 2540 มาจากความไม่รู้จัก "พอเพียง" ของผู้ประกอบการ

แต่ความไม่ "พอเพียง" นี้ปรากฏมาก่อนหน้าเป็นเวลานานแล้ว รัฐก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อยับยั้ง หรือเสริมให้เกิดความ "พอเพียง" เลย

เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นคำตอบ แต่ก็เป็นคำตอบเชิงศีลธรรมด้านเดียว จะเรียกว่าเป็นปรัชญาหรือไม่ใช่ก็ตาม

แต่คงไม่ใช่ "ศาสนา" นะครับ

เพราะศาสนาอยู่ได้โดยไม่ต้องมีรัฐ และรัฐจำนวนมากในโลกนี้ก็อ้างว่าเป็นรัฐโลกียวิสัย คือไม่เป็นของศาสนาใดเลย

ยิ่งกว่าการประกอบการ เศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นไปได้แก่คนส่วนใหญ่เพราะมีสภาพที่เอื้ออำนวยด้วย เช่น มีสวัสดิการพื้นฐานที่มั่นคงแน่นอน ซึ่งรัฐจัดให้ และจัดให้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถได้รับการรักษาพยาบาลในราคาที่ใครๆ ก็เข้าถึง

ถึงอย่างไร บุตรหลานก็ได้เรียนหนังสือฟรีพอที่จะมีอาชีพเลี้ยงตัวได้, มีที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงยั่งยืนพอสมควร, มีสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่ทำให้ชีวิตสงบสุข, ฯลฯ

ศีลธรรมประจำใจก็ยังต้องมีนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อสันตุฏฐีธรรมด้วย ไม่รู้จะโลภโมโทสันไปทำไมให้ร้อนใจตัวเอง พอเพียงครับ พอเพียงแล้วเป็นสุขกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ใช่แต่ระบบสวัสดิการที่ดีเท่านั้น เงื่อนไขทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจพอเพียงยังมีด้านอื่นๆ อีกมาก จะให้เกษตรกรกว่า 30% ของประเทศซึ่งไม่มีที่ทำกิน "พอเพียง" กับอะไรครับ ตราบเท่าที่ไม่มีและไม่พยายามจะปฏิรูปที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม "พอเพียง" ก็เป็นเพียงคำปลอบใจแก่ท้องที่หิวโหยเท่านั้น

แรงงานต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, ได้รับค่าจ้างในอัตราที่ไม่พอจะรักษาครอบครัวให้อบอุ่นได้ (พ่อไปทางแม่ไปทาง พี่ไปอีกทาง ในขณะที่ตายายกลายเป็นขอทาน), แม้แต่จะรวมตัวกันต่อรองก็ยังถูกขัดขวางทั้งด้วยกฎหมาย และสภาพของตลาดแรงงานที่รัฐไม่ยอมแทรกแซงให้เกิดอำนาจแก่แรงงาน, ฐานะการงานไม่มีความมั่นคง เพราะโรงงานหันไปใช้แรงงานนอกระบบซึ่งไม่ต้องถูกผูกมัดด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน, ทักษะที่ไม่มีก็คงไม่มีตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน จนถึงวันสุดท้าย เพราะไม่มีระบบที่จะทำให้เกิดการเพิ่มทักษะของแรงงาน

ปราศจากรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายอะไรแก่คนส่วนใหญ่ ถึงอยากฟุ้งเฟ้อก็ไม่มีกำลังจะฟุ้งเฟ้อได้มากนัก ในวันจ่ายค่าแรงครบวิก ขอกินลูกชิ้นปิ้งที่มีเนื้อมากกว่าแป้งสักหนหนึ่ง จะเป็นการฟุ้งเฟ้อหรือไม่... ก็ท้องมันหิวโปรตีนจริงๆ สักทีนี่ครับ

ในเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้ ผมคิดว่าเขาก็มีเหตุผล/รอบรู้/และประมาณตนที่สุดอยู่แล้วนะครับ

โดยไม่มีรัฐ เขาจึงอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว และถ้ายอมรับแค่นี้ได้ เศรษฐกิจพอเพียง ก็จะตรงกับความหมายที่บางคนเย้ยหยันว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือที่จนก็ทนจนต่อไป ที่รวยก็ทนรวยให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ผมไม่ทราบว่า "นักเทศน์" ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีกลาดเกลื่อนเวลานี้เคยได้ยินคำเย้ยหยันเหล่านี้หรือไม่ และเขาตอบสนองต่อคำเย้ยหยันเหล่านี้อย่างไร แม้พวกเขามีส่วนแบ่งในอำนาจรัฐอยู่สูง เขาคิดว่าจะใช้รัฐทำอะไรให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงได้จริงบ้าง
(คอมเมนต์กระต่าย: โคตรชอบคำนี้เลย นักเทศน์์ "ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง" ใช่เลยครับ มันมีทุกอย่างที่จะเป็นลัทธิมากกว่าทฤษฏี ผู้อ่านระวังจะกลายเป็นสาวกหรือผู้เผยแพร่ลัทธินี้โดยไม่รู้ตัวนะครับ)

หรือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียง "กัณฑ์เทศน์" เพื่อให้นักเทศน์แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุดมการณ์ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

คือประชาธิปไตยที่ไม่มี "การเมือง" และพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ "เหนือ" การเมือง
(คอมเมนต์กระต่าย: ฮึึึึ ฮึ ฮึ ฮึ อ.ประชดใครเนี่ย)