"ความดีมันก็ฆ่าคนได้มากพอๆกับความชั่วนั่นล่ะ"
เฉิน ห้าว หนาน*
...................
ความเดิมจากตอนที่แล้ว...กระแสชาตินิยมฮินดูก่อเกิดขึ้นจากกลุ่มชนวรรณะสูงและกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ของอินเดีย
ทั้งนี้กระแสชาตินิยมฮินดูนั้น แม้จะดูเสมือนว่าเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา แต่แท้จริงกลับมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงและความเกลียดชังมากกว่า
เหล่าผู้สนับสนุนกระแสชาตินิยมฮินดูเห็นว่า การที่พวกวรรณะต่ำและพวกต่างศาสนาในอินเดียได้มีบทบาทสูงขึ้นในวงการเมืองนั้น นำมาซึ่งความสกปรกและไร้ระเบียบ คณวรรณะต่ำไม่มีศีลธรรมและวัฒนธรรมที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง
และสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมฮินดูก็คือ ความเกลียดชังในพวกมุสลิม ซึ่งก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นในทางการเมืองเช่นกัน......
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้สนับสนุนกระแสชาตินิยมฮินดูเสนอให้รัฐอินเดียนั้นมีลักษณะเป็นรัฐศาสนา
โดยให้รัฐอินเดียนั้น นำเอาคุณค่าความเป็น "ฮินดู" มากำหนดทิศทางและแก้ปัญหาสังคม เพื่อขจัดคอร์รัปชั่นและนำความเป็นระเบียบคืนมา
ไอ้คุณค่าความเป็นฮินดูที่ว่านี้เป็นอย่างไรน่ะหรือ ก็คือการเอาระบบวรรณะที่เคร่งครัดกลับมาใช้ เพื่อลดบทบาทวรรณะที่ต่ำกว่าลง การกีดกันและต่อต้านพวกมุสลิม
ถามว่าทำไมต้องเป็น ฮินดู ก็แน่นอน เหล่าผู้สนับสนุนกระแสชาตินิยมฮินดูเห็นว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของอินเดียเป็นคนศาสนาฮินดู ฮินดูก็ควรเป็น "ศาสนา" และ "วัฒนธรรม" ประจำชาติ
เอ...แต่จะทำอย่างไรให้ความเป็น "ฮินดู" มันถูกนำมาใช้ได้ล่ะ
ก็บังคับซิครับ...เหล่าผู้สนับสนุนกระแสชาตินิยมฮินดูบอกมาตรงๆเลยว่า รัฐอินเดียนั้นควรมีลักษณะเป็นเผด็จการมากขึ้น (เพื่อให้สามารถบังคับใช้คุณค่าความเป็นฮินดูได้)
ด้วยการบังคับใช้ความเป็นฮินดูนี้เอง คุณค่าศีลธรรมจักจะกลับมาซิึ่งแผ่นดินอินเดีย
ที่น่าสนใจมากๆก็คือ ในขณะที่ผู้สนับสนุนกระแสชาตินิยมฮินดูนั้น เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรมฮินดูในการ "จัดระเบียบ" สังคม
ในทางเศรษฐกิจ เขาเหล่านั้นกลับสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า และการทำประเทศให้ทันสมัย
โดยอ้างว่าด้วยแนวทางนี้เท่านั้นอินเดียถึงจะแข่งขันกับนานาอารยะประเทศได้ (หากแท้จริงก็เพราะตัวเองได้ประโยชน์เยอะนั่นล่ะ)
การนำ "ศีลธรรม" เข้ามานำ "การเมือง" ของกระแสชาตินิยมฮินดูจึงให้บทเรียนเราอย่างชัดเจนได้หลายประการ
หนึ่ง โปรดระลึกอยู่เสมอว่าเวลาศีลธรรมถูกนำมาใช้ในทางการเมืองนั้น ผู้ใช้มักจะเอา "ความดี" มาสร้างความชอบธรรมในการอยู่เหนือกว่า ฮะแฮ่ม ตัวอย่างดาษดื่น คิดเองละกัน ประเทศไหแลนด์น่ะมีแยะ
สอง ศีลธรรมนั้นมีความเป็น อสมรูป (asymmetric) อยู่ ศีลธรรมมักถูกแฝงด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ผู้คนมีสิทธิในการเข้าถึงได้ไม่เท่ากัน เช่น เวลาเอาศีลธรรมฮินดูมาใช้ มันก็ไปทำให้เหล่าคนที่ชั้นวรรณะต่ำ หรือคนต่างศาสนาต้องกลายเป็น "คนนอก" เรื่องเหล่านี้จริงๆหลายครั้งก็เป็นเปลือกที่ใช้หุ้มความเกลียดชังไว้อีกทีหนึ่ง (ก็แบบหลายคนที่เรียกร้องให้มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพราะเกลียดมุสลิมนั่นล่ะ)
สาม ผู้นำทางการเมืองที่กล่าวอ้างศีลธรรมนั้น แท้จริงก็อ้างเอาแต่ส่วนที่ตนไม่เสียประโยชน์นั่นล่ะ ในกรณีฮินดูนี่ก็แบบฮินดูแค่เฉพาะกดเอาวรรณะต่ำกว่าลงไปในทางการเมือง แต่ประเทศต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ต้องแข่งขันทางเทคโนโลยี (เพื่อไม่ให้ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเสียโอกาสทางการค้า) หรืออย่างบางคนที่กล่าวอ้างจะเอาเศรษฐกิจพอเพียงมานำเป็นทิศทางของประเทศนั้น ก็บอกว่าตัวเองขับเบนซ์และใช้หลุยส์ได้เพราะพอเพียงของเขา (พอเพียงแบบรวยอ่ะ) แต่ชาวบ้านก็อดๆอยากๆไปด้วยความพอเพียงเช่นกัน (พอเพียงแบบจนอ่ะ)
ด้วยประการฉะนั้น โปรดคิดมากไม่ต่ำกว่าสองครั้ง และสงสัยไม่ต่ำกว่าสามครั้ง เวลาได้ยินผู้ใดกล่าวอ้างเอาศีลธรรมมาสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองให้กับตัวเอง
...จริงๆนะ
................................
*หัวหน้าแก๊งค์หงซิ่ง แห่งซีรีส์หนังจีนอมตะ "กู๋หว่าจ๋าย" หนังมันส์แต่นางเอกตายทุกภาค (มีประมาณสิบกว่าภาค นางเอกรีไซเคิลเพียบ)
Saturday, May 19, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
สงสัยมาหลายครั้งแล้ว (มากกว่า 3 ครั้ง)..และ มักรู้สึก งง งง กับชีวิต แบบ ไม่เข้าจาย ว่าจะอะไรกันนักกันหนา กับ คำว่า "ความมีศีลธรรม" (ที่เป็นเพียงแค่เปลือก?)
ท่านอาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ว่า คติในการดำเนินชีวิตของท่านคือ "ความดี++ความจริง++ความงาม" ความดี(ที่ไม่แท้)ที่ไม่ได้ยึดติดกับความจริงด้วย ...แล้วมันจะเกิดประโยชน์ อะไร หรือไม่...เฮ้อ ^_^
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
Post a Comment